top of page

กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ใครทำอะไร (1)


Lab 5 Soundworks จะมาพูดถึงการทำเพลงประกอบสื่อต่างๆ ว่ามันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านไหนและมีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศมีการทำงานในสเกลที่ใหญ่จนเป็นอุตสาหกรรม นั่นแสดงให้เห็นว่า วิธีการจัดการและขั้นตอนการทำงานจำเป็นต้องมีความเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น การตกลงเนื้อหาหรือทิศทางของงานที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นมันจึงเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับการทำงานดนตรีประกอบสื่อทุกประเภท โดยเราสามารถนำขั้นตอนต่างๆ ไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นละครเวที งานโฆษณา เพลงสำหรับองค์กร แอพพลิเคชั่น เกม หรือแม้กระทั่งการทำงานศิลปะ (Sound Art)

เพราะในแต่ละขั้นตอนต้องการผู้ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ต่างกันเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลมาจากทั้งประสบการณ์การทำงานของตัวเอง อาจารย์ หนังสือและเว็บไซต์การศึกษาของต่างประเทศ เรามาดูกันว่าในสายดนตรีประกอบภาพยนตร์นั้น ฝ่ายดนตรีมีหน้าที่อะไรบ้าง

Film Composer - นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์

เรียกกันง่ายๆ ว่าคนแต่งเพลงประกอบก็แล้วกัน ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งแรกที่จะสร้างเสียงดนตรีให้กับภาพยนตร์แต่ละเรื่องกันเลยทีเดียว หน้าที่หลักก็ตามชื่อเลย คือแต่งเพลงประกอบหรือที่เรียกกันว่า อันเดอร์สกอร์ (Underscore) ให้กับภาพยนตร์ ซึ่งในต่างประเทศคนแต่งเพลงประกอบจะรวมไปถึงการแต่งเพลงประกอบสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อที่มีภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วย นอกจากหน้าที่ของเพลงประกอบจะถูกใช้เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือสถานการณ์ต่างๆ ในภาพยนตร์นั้นๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ก็สามารถนำมาใช้ฟังเพื่อความบันเทิงก็ได้เช่นเดียวกัน

Film Arranger (Adaptor) - นักเรียบเรียงดนตรี

มาถึงอีกตำแหน่งที่เรียกว่า Film Arranger กันดีกว่า หน้าที่ก็คือการเรียบเรียงดนตรี ที่เน้นไปที่การสร้างสรรค์แนวดนตรี เริ่มจากการเลือกแนวเพลงที่จะเรียบเรียง โครงสร้างของเพลง ความเร็ว คัดเลือกนักร้อง เลือกประเภทของเครื่องดนตรี โดยทำให้เพลงนั้นๆ เป็นไปตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของคนแต่งเพลง

Film Arranger ต่างจาก Orchestrator ตรงที่ Film Arranger จะเรียบเรียงเสียงดนตรีเพื่อให้เพลงมีความสมบูรณ์โดยการสร้างสรรค์เพลงให้ออกมาเป็นเพลงที่จับต้องได้ เพลงที่จะต้องเรียบเรียงบางครั้งก็มีแค่ทำนองกับคอร์ด คนแต่งเพลงอาจอธิบายแนวเพลงที่อยากได้เพื่อเป็นแนวทางให้ Arranger เรียบเรียงเพลงไปในทิศทางที่ต้องการ หลังจากนั้น Arranger จะต้องมาคิดรายละเอียดทั้งหมดในเพลง เช่น จะต้องมีอินโทรมั้ย ท่อนเพลงต้องเป็นอย่างไร ใช้เครื่องดนตรีแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับเพลงแนวนั้นๆ เป็นต้น ในส่วนของการเรียบเรียงนี้ ผู้เรียบเรียงสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในเพลงที่เรียบเรียงได้อีกด้วย

Orchestrator - นักเรียบเรียง (เครื่อง) ดนตรี

Orchestrator ก็คือนักเรียบเรียง (เครื่อง) ดนตรีที่มีหน้าที่ในการเขียนสกอร์ให้กับคนแต่งเพลง หลังจากที่คนแต่งเพลงเขียนเพลงเป็นโน้ตฉบับย่อ (Condensed Score) เสร็จแล้ว ก็จะโยนโน้ตเพลงมาให้ Orchestrator เพื่อทำให้กลายเป็นเพลงฉบับเต็ม (Full Score) ที่มีเครื่องดนตรีครบครัน ทั้งเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้า เครื่องดนตรีป๊อบ หรือแจ๊ส ตามแนวคิดหลักของคนแต่งเพลง โดยจะต้องใช้ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น สีสันของเครื่องดนตรี (Timbre) ระยะเสียงของเครื่องดนตรี (Range) หรือความรู้เรื่องการบันทึกโน้ต (Notation) มาทำให้เพลงมีความสมบูรณ์ Orchestrator จะต้องจินตนาการว่าเสียงเครื่องดนตรีอะไรเหมาะกับเพลงนี้ เครื่องไหนควรจะเล่นเป็นทำนองหลัก แล้วจะมีการประสานเสียงด้วยเครื่องดนตรีอะไรถึงจะเข้ากับอารมณ์ของเพลง เป็นต้น ในบางครั้ง Orchestrator อาจจะต้องเป็นวาทยากรจำเป็นอีกด้วย

เมื่อดูจากหน้าที่การทำงานของ Orchestrator แล้วก็คงพอจะนึกออกว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เขียนสกอร์ หรือเรียบเรียงเครื่องดนตรีเท่านั้น แต่มีหน้าที่สร้างสีสันและทำให้เพลงมีความสมบูรณ์เพื่อเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกของภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั่นเอง

ยังมีอีกหลายตำแหน่งในสายดนตรีประกอบ Lab 5 Soundworks จะมาเล่าให้ฟังกันต่อใน Blog หน้านะ

อ้างอิงจาก

  • Lalo Schifrin:Music Composition for Film and Television

  • https://www.berklee.edu/careers-film-scoring

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page