top of page

One Step Forward Workshop | Film Scoring


ก่อนอื่น Lab 5 Soundworks ต้องขอสวัสดีปีใหม่ทุกๆ ท่าน หลังจากที่ห่างหายไปสักพัก เรากลับมาพร้อมกับสาระดีๆ ตามเคย

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Lab 5 Soundworks มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม One Step Forward: A Film Scoring & Producing Workshop ที่จัดขึ้นโดย บิล ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ (Bill Piyatut) Film Composer รุ่นใหม่ไฟแรง ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ Studio 28 ในวันที่ 26-27 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยวันแรกจะเป็นการพูดถึงหัวข้อ Film Scoring และวันต่อมาจะเป็นหัวข้อ Producing บอกได้เลยว่ากิจกรรมทั้งสองวันนี้ อัดแน่นไปด้วยความรู้ที่มาจากการทำงานจริงของคนในวงการด้านเสียง ทั้งเสียงในภาพยนตร์และการผลิตเพลง เริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้า ยาวไปจนถึง 2-3 ทุ่มเลยทีเดียว กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการชาร์จพลังในการทำงาน ได้พบปะผู้คนใหม่ๆ ได้ฟังและเข้าใจกระบวนการการทำงานจากผู้คนที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้เอง Lab 5 Soundworks จึงอยากจะแบ่งปันความรู้ที่ได้ให้กับทุกท่านที่สนใจไว้ในบล็อคนี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ฝั่งของ Film Scoring, Audio Post-production และ Music Producing

มาเริ่มกันเลย ! ! !

Film Scoring (26 ธันวาคม พ.ศ. 2558)

หัวข้อนี้ พวกเราเคยกล่าวถึงไปบ้างแล้ว ในบล็อคที่ผ่านๆ มา ทั้งเรื่องของอาชีพในสายดนตรีประกอบภาพยนตร์ (กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ใครทำอะไร) และขั้นตอนการทำงาน (กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ทำอย่างไร)

หลังจากที่ลงทะเบียน เดินชม Studio 28 ไปนิดหน่อย กิจกรรมก็เริ่มพอดี ผู้เข้าร่วมมีประมาณ 40-50 คน มีทั้งที่ทำงานสายดนตรี อย่างนักประพันธ์ดนตรี นักดนตรี นักเรียนนักศึกษาด้านดนตรี และผู้ที่ไม่ได้ทำงานด้านดนตรีโดยตรง อย่างน้าแอ๊ด ที่พร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องเสียงมายาวนาน รวมถึงสายอาชีพอื่นๆ ที่สนใจดนตรีประกอบภาพยนตร์

เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวของผู้จัดอย่าง บิล ปิยทัศน์ ตามด้วย พี่ต๋อย เทิดศักดิ์ (Film Composer) ในฝั่งของดนตรีประกอบภาพยนตร์ และพี่ยู ศรันยู เนินทราย (Sound Designer) ในฝั่งของ Audio Post-Production สองห้วข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ของเสียงในภาพยนตร์ การเข้าใจวิธีคิดและวิธีการทำงานจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็น

ดนตรีประกอบภาพยนตร์

หน้าที่ของดนตรีประกอบภาพยนตร์ แบ่งออกเป็น 3 ข้อหลักๆ ได้แก่

  • สร้างความรู้สึกและเล่าถึงสิ่งที่อยู่เหนือการมองเห็นด้วยตาเปล่า

  • สร้างบรรยากาศ สถานการณ์ หรือสร้างอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร

  • เสริมอารมณ์และความรู้สึกให้ได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น

ในบางกรณีผู้กำกับอาจอยากให้ดนตรีเข้ามาช่วยในการอุดช่องโหว่ทางด้านการแสดงของนักแสดงที่แสดงไม่ดีพอ ซึ่งวิธีการนี้ถ้าใช้ดนตรีช่วยมากไป จะเป็นการยัดเยียดเสียงให้คนดู จนรู้สึกตึงเครียดหรือน่าเบื่อได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในการทำงานร่วมกับคนทำเพลงประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ ผู้กำกับและคนทำเพลงควรสื่อสารกันด้วยความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ภาพยนตร์ ไม่ควรพูดภาษาทางเทคนิคให้เกิดความสับสน เพราะในท้ายที่สุดแล้วเมื่อเราดูหนังเราย่อมต้องการซึมซับอารมณ์และศิลปะที่ออกมาจากหนังเรื่องนั้นๆ มากกว่ามานั่งฟังเพลงที่เต็มไปด้วยเทคนิค แต่ไม่สื่ออารมณ์ที่อยู่ในหนังเลย

หลังจากเข้าใจหน้าที่ของดนตรีประกอบภาพยนตร์แล้ว ตัวอย่างต่อไปที่บิลนำมาให้ชมกันก็คือ เพลงที่แตกต่างกัน สามารถสร้างความรู้สึกที่ต่างออกไปได้อย่างไรบ้าง ซึ่งบิลได้ลองนำเพลงแบบต่างๆ มาวางลงในหนังฉากเดียวกัน แบ่งเป็น 5 แบบ 5 อารมณ์ (จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันคร่าวๆ) อันดับแรกก็เปิดหนังเปล่าๆ ให้ดูว่าเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้นๆ ต่อมาก็นำเพลงต่างๆ มาวาง เช่น เพลงที่ตื่นเต้น ระทึกใจ เพลงที่มีความสมหวัง ได้รับความช่วยเหลือ เพลงที่หมดหวัง ใช้ Choir ขับร้องเพลงสวดศพ เพลงที่สร้างความสะพรึงกลัวและลึกลับ รวมไปถึงเพลงแบบกู้โลกได้รับชัยชนะ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเพลงมีผลมากกับการสร้างอารมณ์และความรู้สึกมากเลยทีเดียว

ต่อมาเป็นหัวข้อของเพลงอ้างอิง ซึ่งจะเรียกว่า เพลง Reference หรือ Temptrack ก็ได้ บิลได้อธิบายถึงหน้าที่และการใช้งานของนักประพันธ์ท่านอื่นๆ ถึงการใช้เพลงอ้างอิงนี้ไว้น่าสนใจ

เพลงที่ถือว่าเป็นเจ้าพ่อและเป็นต้นแบบของเพลงประกอบใน Hollywood หลายๆ เรื่อง ส่วนมากมีอิทธิพลมาจากเพลงของ Holst ในอัลบั้ม The Planet ซึ่งหนึ่งในเพลงยอดนิยมก็คือ Mars เพลงนี้ถูกใช้วางเป็น Reference บ่อยมากในภาพยนตร์ที่เน้นการต่อสู้ อย่างเรื่อง Gladiator และ Star wars แต่ที่น่าสังเกตก็คือเพลงประกอบของทั้งสองเรื่องมีการหยิบความโดดเด่นของเพลง Mars มาใช้แตกต่างกัน กล่าวคือ การนำเพลง Reference มาใช้ ไม่ได้หมายความว่าเอาเพลงต้นฉบับมาทั้งดุ้น แต่เป็นการนำเอาวิธีการประพันธ์ดนตรี ทฤษฏี คอร์ด เสียงประสาน หรือแม้แต่อารมณ์และส่วนประกอบบางอย่างของเพลงนั้นมาใช้ให้เข้ากับอารมณ์ ความรู้สึก หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งดนตรีประกอบของทั้งสองเรื่องนี้ ก็มีความแตกต่างกัน แม้จะมาจาก Reference เดียวกันก็ตาม

อย่างไรก็ดี การมีเพลง Reference เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมาก การพูดว่า “ชอบ” ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนสองคนเข้าใจได้ตรงกัน Reference จึงเปรียบเสมือนกาว ที่ให้คนสองคน (หรือหลายๆ คน) เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

Film Scoring Workshop

ประสบการณ์การทำงานและวิธีการทำงานของคนทำเพลงประกอบ

จริงๆ แล้วการสาธิตวิธีการทำงานของคนทำเพลงประกอบนั้น จะอยู่ในช่วงท้ายสุดของวัน แต่ Lab 5 Soundworks จะขอนำขั้นตอนนี้มาเสนอก่อน เพื่อให้เนื้อหาของเพลงประกอบภาพยนตร์มีความต่อเนื่องกัน

หลังจากเข้าใจความหมายและสิ่งที่ต้องทำก่อนลงมือแต่งเพลงกันไปแล้ว มาถึงขั้นตอนการลงมือแต่งเพลงประกอบ บิลได้นำหนังสั้นของเพื่อนมาเป็นตัวอย่างในการทำงาน เริ่มจากการคุยกับเพื่อน (หรือผู้กำกับนั่นเอง) ถึงตัวหนังและแนวทางของเพลงที่ต้องการมีในหนัง (Spotting session) เมื่อคุยกันแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือของจริง

หนังที่ได้มายังคงเป็นหนังที่ไม่สมบูรณ์ ยังมีฉากบางฉากที่ยังไม่ได้ใส่ CG และยังตัดต่อฉากบางฉากไม่ลงตัวก็ตาม สิ่งแรกในการแต่งเพลงก็คือการทำ Marker ให้กับจุดสำคัญๆ ในหนัง เช่น การเปลี่ยนฉาก การเปลี่ยนสถานที่ และเปลี่ยนเวลา ยกตัวอย่างฉากหนึ่งในหนัง เป็นฉากที่พระเอกหันไปมองสร้อย และสร้อยก็เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในหนัง รายละเอียดพวกนี้คนทำเพลงจะต้องสังเกต เพื่อทำดนตรีให้โอบรับกับการกระทำที่สำคัญนั้นๆ ด้วย ต่อมาเป็นการทำ Click track หรือการใส่จังหวะเปล่าๆ ให้เข้ากับจังหวะของภาพก่อนที่จะแต่งเพลงลงไปในหนังจริงๆ เพื่อให้ง่ายต่อการแต่งเพลงในขั้นตอนต่อไป

เมื่อได้จังหวะภาพที่เหมาะสมแล้ว ก็ถึงเวลาแต่งเพลง สิ่งที่ควรทำสำหรับคนที่แต่งเพลงบ่อยๆ ก็คือ การสร้าง Template ของเครื่องดนตรีที่ใช้บ่อยๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานในเวลาเร่งรีบ จากนั้นก็เริ่มแต่งเพลงซึ่งวิธีการของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป สำหรับวิธีการของบิลจากที่สังเกตก็คือ การดูฉากที่ต้องการจะทำหลายๆ รอบ เพื่อให้ได้อารมณ์ของตัวละครและฉากนั้นๆ แล้วค่อยใส่เครื่องดนตรีที่เข้ากับอารมรณ์ นึกเสียงอะไรออกก็ใส่ไปก่อน อาจเป็นคอร์ดหรือกลุ่มทำนองสั้นๆ เพิ่มเสียงประสานและเครื่องดนตรีไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างลงตัว

แม้การเวิร์คชอปจะกินเวลานาน แต่ความรู้และความสนุกที่ได้รับมันคุ้มค่ามากเลย สิ่งที่เขียนไว้ในบล็อคอาจจะไม่สามารถบรรยายออกมาได้หมดทุกอย่าง แต่พวกเราก็หวังว่าทุกคนจะเห็นภาพการทำงานและวิธีการต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะ

เอาล่ะถึงเวลาพักเบรค !! เนื้อหาในตอนต่อไปยังคงเกี่ยวข้องกับ Film scoring แต่จะเป็นเนื้อหาในฝั่งของ Audio Post-production บอกได้เลยว่าอัดแน่นมากๆ ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน ทีมงาน เสียงในภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ยังไงก็ฝากติดตาม Lab 5 Soundworks กันต่อด้วยคร้าบ

-------------------------------

ขอขอบคุณ

www.facebook.com/PiyatutComposer

www.facebook.com/DachshundAudio

www.facebook.com/studio28bkk

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page