top of page

"เพลง Reference" ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ


หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “เพลง Reference” จริงๆ แล้วในอุตสาหกรรมดนตรีประกอบภาพยนตร์หรือดนตรีประกอบสื่อในต่างประเทศ มักเรียกเพลง Reference ว่า Temp track (คำเรียกอื่นๆ ที่อาจจะพบได้คือ Temp score หรือ Temp music) โดยมาจากชื่อเต็มที่ว่า “Temporary track” นั่นเอง Lab 5 Soundworks จะพาไปดูว่าแท้จริงแล้ว Temp track หรือ เพลง Reference ที่เราใช้กันอยู่นั้น มันมีไว้ทำอะไร มีประโยชน์และโทษต่อผู้กำกับ (เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้าง) และคนทำเพลง อย่างไรบ้าง

ถ้าจะให้พูดกันง่ายๆ Temp track ก็คือ เพลงที่ใช้เป็นตัวอย่างในฉากนั้นๆ เพื่ออธิบายอารมณ์หรือแนวเพลงที่ผู้กำกับต้องการแทนการอธิบายด้วยปากเปล่า เพลง Soundtrack หนัง เพลงของศิลปินต่างๆ เพลงป๊อบในกระแส เพลงอินดี้ หรือแม้แต่เพลงคลาสสิคก็สามารถหยิบมาใช้เป็น Temp track ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราเป็นคนทำเพลงอยู่แล้ว ก็สามารถใช้เพลงจากผลงานที่ผ่านมาหรือแม้แต่เพลงที่เคยแต่งเก็บไว้ก็ได้

หลังจากที่ผู้กำกับส่งงานต่อมาให้คนทำเพลง คนทำเพลงและผู้กำกับต้องพูดคุยกันถึงทิศทางหนังของเพลงที่อยากให้มีในฉากนั้นๆ (นี่คือขั้นตอนของ Spotting session) แต่จะทำอย่างไรให้ฝ่ายคนทำเพลงและผู้กำกับเข้าใจเพลงในทิศทางเดียวกัน การที่จะมานั่งอธิบายเพลงด้วยปากเปล่าให้คนอื่นเข้าใจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่น ถ้าผู้กำกับบอกว่า “ผมอยากได้เพลงคลาสสิก” มันสามารถตีความไปได้หลายทิศทางมาก เพราะคำว่า “คลาสสิก” ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจเข้าใจว่าเป็น Mozart, Beethoven, Bach, Wagner หรือ Debussy ซึ่งนักประพันธ์แต่ละท่านก็มีสไตล์เพลงแตกต่างกัน (มิหนำซ้ำบางคนก็ไม่ได้อยู่ในยุคคลาสสิกแล้วด้วย) ฉะนั้นแล้วการใช้ Temp track จึงสามารถช่วยให้ผู้กำกับและคนทำเพลงมีความเข้าใจที่ตรงกันได้ ยิ่งเลือกเพลงได้เฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ เรายิ่งสื่อสารกันได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

ในบางกรณี ถ้าผู้กำกับชอบ Temp track ที่เลือกมามาก ให้คนทำเพลงทำให้ยังไงก็ไม่สามารถทดแทน Temp track ที่

​เลือกมาได้ วิธีแก้ปัญหาก็คือ ซื้อเพลงที่ชอบ (อย่างถูกกฎหมาย) แล้วเอามาใส่ในหนังของตัวเองเลย ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง 2001 : A Space Odyssey (1968) ที่ผู้กำกับ Stanley Kubrick เลือกเพลง “Also Sprach Zarathustra” ของ Richard Strauss มาใช้เป็น Temp track และให้ Alex North แต่งเพลงที่เป็น Original score ให้กับหนังตัวเอง แต่แล้ว Stanley ก็กลับรู้สึกว่า Temp track ที่ตัวเองเลือกใช้ มันเข้ากับหนังได้มากกว่า จึงบอก Alex ว่า “ผมไม่ใช้เพลงคุณแล้วแหละ ผมชอบเพลงนี้มากกว่า”

2001: A Space Odyssey ภาพยนตร์ที่คอ Sci-Fi น่าจะรู้จักกันดี (ซ้าย), Richard Strauss (1864-1949)

นักประพันธ์ชาวเยอรมัน งานของเขาคาบเกี่ยวอยู่ในยุค Romantic และ Modern (ขวา)

ประโยชน์ของ Temp Track

สำหรับผู้กำกับ/คนตัดต่อ

  • เพื่อตัดต่อภาพยนตร์ได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้จังหวะเพลงเป็นตัวช่วยในการตัดต่อภาพ

  • เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นทิศทางของหนังที่ตัดต่อแล้วในขั้นตอน Post production

  • เพื่ออธิบายแนวคิดหลักของเพลงที่ต้องการใช้ในภาพยนตร์

สำหรับคนทำเพลงประกอบ

ในกรณีที่ผู้กำกับยังไม่มีไอเดียหรือต้องการความเห็นของคนทำเพลง เราก็ต้องใช้ Temp track เพื่อให้ผู้กำกับเข้าใจแนวคิดและอารมณ์ของเพลงที่เราเลือกก่อนลงมือแต่งเพลงจริงๆ

การใช้ Temp track ทำให้เราประหยัดเงินและเวลาไปได้มาก ถ้าผู้กำกับยังมีทิศทางของเพลงที่ไม่แน่นอน การที่เราจะนั่งแต่งเพลงหลายๆ เวอร์ชั่น แล้วผู้กำกับไม่ชอบนั้น นอกจากจะเสียเงินและเวลาแล้ว ยังทำให้คนทำเพลงรู้สึกแย่อีกด้วย หากคนทำเพลงบางคนรู้สึกว่าการที่ต้องทำเพลงตาม Temp track นั้นปิดกั้นจินตนาการ ก็ควรจะคุยกับผู้กำกับให้เข้าใจว่าทิศทางของเพลงที่เราจะทำเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น

ในอีกกรณีหนึ่งก็คือ ถ้าเราคิดว่าผู้กำกับเลือกเพลงมาไม่เข้ากับหนัง เราสามารถพูดคุยกับผู้กำกับและเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้กับผู้กำกับได้ โดยเลือก Temp track ที่เราคิดว่าเหมาะสมกว่าเป็นทางเลือกแก่ผู้กำกับ (แต่กรณีนี้ต้องสนิทกับผู้กำกับและผู้กำกับต้องใจกว้างพอสมควรเลยนะ)

กับดักอันตรายของการใช้ Temp track

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ประโยชน์ของ Temp track มีอะไรบ้าง แต่ก็อย่าลืมว่าบางครั้ง Temp track ก็สร้างปัญหาให้กับคนทำเพลงได้เหมือนกัน

1. “ผมอยากให้ทำเพลงออริจินัลสักเพลง ที่มีส่วนผสมของเพลงหลายๆ เพลงน่ะ” ผู้กำกับอาจจะอยากให้เพลงของเขามีส่วนผสมที่หลากหลาย จาก Temp track มากมายที่ชอบ แต่นั่นทำให้เพลงสะเปะสะปะ ดูไม่มีจุดหมาย ทางที่ดีผู้กำกับควรจะเข้าใจสิ่งที่ตัวเองต้องการจะสื่อสาร หากยังเลือกเพลงที่ชอบไม่ได้ ก็สามารถพูดคุยและปรึกษากับคนทำเพลงเพื่อลดจำนวน Temp track ที่ต้องการใช้ลง เมื่อทิศทางของเพลงมีความชัดเจนยิ่งขึ้น คนทำเพลงก็สามารถทำงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้กำกับได้ดียิ่งขึ้น

2. “พี่ขอเหมือนๆ เลยนะ ยิ่งเหมือนได้ยิ่งดี” ผู้กำกับอาจมี Temp track ที่ชอบมากๆ อยู่ในใจ อยากจะนำมาใช้ในงานของตัวเอง ผู้กำกับสามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร

  • ซื้อเพลง Temp track (อย่างถูกกฎหมาย) แล้วเอามาใช้เลย

  • ถ้าเพลงมีราคาสูง แล้วต้องจ้างคนทำเพลงให้เหมือน Temp track สิ่งที่พึงระวังไว้ก็คือ ประเด็นทางกฎหมาย ถ้าเพลงเหมือนมาก อาจถูกฟ้องร้องจากเจ้าของเพลงตัวจริง ฉะนั้นคนทำเพลงควรทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง เพื่อป้องกันตัวเองในกรณีที่ถูกฟ้องร้อง แต่ถ้ายังต้องการจ้างคนทำเพลงอยู่ คนทำเพลงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้กำกับว่า เพลงที่ได้อาจไม่เหมือนกับ Temp track 100% ต้องมีการดัดแปลงกันบ้าง เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย

  • ไปคุยกับคนที่ทำเพลง Temp track นั้น แล้วขอให้เค้าแต่งเพลงที่มีความคล้ายคลึงกับ Temp track ที่เลือกมา ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ยากสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป

อย่างไรก็ดีการติด Temp track มากเกินไป นอกจากจะทำให้คนทำเพลงไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ผู้กำกับอาจเสียโอกาสในการได้งานเพลงที่เป็นออริจินัลด้วย และในกรณีที่แย่ที่สุดคือ มันไปติดอยู่ในความคิดของผู้กำกับจนผู้กำกับไม่สนใจว่า เพลงที่ Composer แต่งขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นอย่างไร

3. “พี่อยากได้เพลงแบบ Mozart ดูดีมีระดับน่ะค่ะ” การเลือกคนทำเพลงก็สำคัญ ผู้กำกับควรรู้จักว่าคนทำเพลงที่เราจะว่าจ้างมีความถนัดในแนวเพลงอะไรและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน การรู้จักสไตล์ของคนทำเพลง ทำให้ผู้กำกับได้งานที่สมบูรณ์แบบ เช่น เมื่อผู้กำกับอยากได้เพลง Mozart ที่ดูดีมีระดับ แต่ดันไปว่าจ้างคนทำเพลงที่ถนัดทำเพลงแบบอิเล็คทรอนิค หรือ EDM เขาอาจจะทำเพลงคลาสสิกออกมาไม่ได้อารมณ์ตามที่ต้องการ คนทำเพลงบางคนก็สามารถทำเพลงได้หลากหลายแนว ซึ่งทำออกมาดีด้วย ฉะนั้นก่อนจะให้ใครทำเพลงให้ ก็ควรรู้จักคนทำเพลงคนนั้นบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อให้ได้เพลงที่อยากได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำเพลง ถ้าเราสามารถแต่งเพลงได้หลากหลายแนว ก็ทำให้เรามีโอกาสในการรับงานมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ก็คงเห็นแล้วใช่มั้ยว่า Temp track ช่วยให้ผู้กำกับและคนทำเพลงทำงานได้ราบรื่นยิ่งขึ้นอย่างไร ฉะนั้นก่อนใช้ Temp track ทุกครั้ง ผู้กำกับก็อย่าลืมค้นหาใจตัวเองให้พบว่า ต้องการอะไร อยากได้เพลงแบบไหน และหา Temp track ที่ถูกใจที่สุด ก่อนนำไปพูดคุยกับคนทำเพลง เราก็จะได้ทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่นและตรงประเด็น ส่วนคนทำเพลงเองก็อย่าลืมฟังเพลงเยอะๆ ฝึกฝนตัวเองให้เก่งๆ จะได้มีคลังเสียงให้ผู้กำกับเลือกเวลาผู้กำกับมาขอคำปรึกษานะ

หวังว่าบล็อคนี้จะทำให้คนที่ไม่รู้จัก Temp track คลายความสงสัยกันไปได้ และทำให้คนที่จะนำ Temp track ไปใช้ เข้าใจหน้าที่ของมันมากขึ้น จะได้ทำงานกันอย่างราบรื่นทั้งผู้กำกับและคนทำเพลงเลย

อ้างอิงจาก

  • Fred Karlin - On the Track: A Guide to Contemporary Film Scoring

  • Richard Davis - Complete Guide to Film Scoring: The Art and Business of Writing Music for Movies and TV

  • Jason Tomaric - Filmmaking: Direct Your Movie from Script to Screen Using Proven Hollywood Techniques

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page