top of page

ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก | มิติใหม่ของดนตรีในศตวรรษที่ 20


ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก

ก่อนที่จะกล่าวถึงดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก ว่ามันคืออะไร มันใหม่อย่างไร หรือสามารถนำไปใช้งานอะไรได้นั้น Lab 5 Soundworks ขออาสาพาทุกคนไปรู้จักที่มาที่ไปของดนตรีชนิดนี้กันก่อนดีกว่า

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยี มีผลอย่างมากต่อวงการศิลปะ มีกลุ่มศิลปินหัวสมัยใหม่ (Modernism) เริ่มหาสุนรียะใหม่ๆ ให้กับศิลปะ ดนตรีก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ศิลปินและนักประพันธ์หลายท่าน พยายามหาสุนทรียศาสตร์ของเสียงใหม่ ที่แตกต่างไปจากกฏเกณฑ์เดิมๆ จะว่าไปเสียงเครื่องจักรและความเป็นระบบอุตสาหกรรมก็มีความน่าสนใจไม่แพ้ดนตรีในยุคคลาสสิคหรือโรแมนติกเลย ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นบวกกับยุคที่ยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักดนตรีหัวก้าวหน้าอย่าง ลุยจิ รัสโซโล่ (Luigi Russolo) ได้สร้างเครื่องดนตรีที่จำลองเสียงของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมา และให้ชื่อว่า Intonarumori นอกจากนี้ลุยจิ รัสโซโล่ ยังได้เขียนหนังสือ Art of Noise ขึ้นมา เนื้อหาภายในเกี่ยวกับปรัชญาใหม่ๆ ที่มีต่อเสียงรบกวน หรือที่เรียกว่า Noise รวมถึงจำแนกประเภทต่างๆ ของเสียงตามลักษณะของเสียงด้วย ปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ของเสียงรูปแบบใหม่นี้เอง ทำให้ดนตรีแตกแขนงออกไปหลายสาขามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ

"ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก"

Art of Noise - Luigi Russolo

สิ่งประดิษฐ์ของลุยจิ รัสโซโล่ "Intonarumori"

เอาล่ะ เมื่อเราเข้าใจจุดกำเนิดของดนตรีแขนงนี้กันแล้ว มาดูกันต่อว่าดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก คืออะไร

อิเล็กโทรอะคูสติก เป็นคำที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงสัญญาณจากเสียงไปเป็นไฟฟ้า วิธีการเปลี่ยนเสียงทั่วๆ ไปเป็นสัญญาณไฟฟ้า ทำได้ง่ายๆ โดยการบันทึกเสียงผ่านไมโครโฟนและแปลงสัญญาณจากไฟฟ้าผ่านลำโพงกลับกลายเป็นเสียงอีกครั้ง รวมไปถึงการประมวลผลต่างๆ ผ่านกระบวนการทางไฟฟ้า ทั้งการสังเคราะห์เสียงขึ้นมาใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะ เนื้อเสียง ความสั้น-ยาว หรือความหนาแน่นของเสียงให้มีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อมีการจัดวางเสียงเหล่านั้นอย่างมีศิลปะแล้ว ก็จะถูกเรียกว่า “ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก” หรือ “ดนตรีที่มีส่วนผสมของไฟฟ้า” นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงสัญญาณเสียงผ่านกระบวนการทางไฟฟ้า

การเปลี่ยนแปลงสัญญาณเสียงผ่านกระบวนการทางไฟฟ้า

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในช่วงศตวรรษที่ 20 อย่าง เครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง อุปกรณ์ในการขยายเสียง อย่างไมโครโฟน ลำโพง หรือแม้แต่เครื่องสังเคราหะ์ต่างๆ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธ์ นักทฤษฎีดนตรี นักเขียนและศิลปินชาวอเมริกัน ผู้สนใจในดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติกและค้นพบทฤษฎีอินดีเทอร์มิเนซี (indeterminacy) ถือเป็นศิลปินคนแรกที่นำเอาความเป็นไปได้ของการผสมผสานดนตรีแบบแผนตะวันตกเข้ากับดนตรีที่ผลิตจากกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปีค.ศ. 1939 เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า Imaginary Landscape No.1 สำหรับ เปียโนที่อุดสาย (muted piano) ฉาบ และเครื่องเล่นแผ่นเสียง 2 เครื่อง โดยให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงผลิตเสียงที่เรียกว่า ไซน์เวฟ (sine wave) โดยผู้เล่นแผ่นเสียงจะสร้างเสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเข็มของเครื่องเล่นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนความช้า-เร็วของแผ่นเสียง หรือเปลี่ยนระดับเสียงของไซน์เวฟ เป็นต้น

ต่อมาในปีค.ศ. 1948 ปิแอร์ แชฟเฟอร์ ได้คิดค้นดนตรีที่เรียกว่า มิวสิคคงเคร็ต (Musique Concrète) ขึ้นมา โดยเน้นไปที่การนำเสียงจริงที่ถูกบันทึกมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์บทประพันธ์ เขาได้ก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า GRMC (Groupe de Recherche de Musique Concrète) ขึ้นมาร่วมกับปิแอร์ อองรี (Pierre Henry) และ ฌาคส์ ปูแลง (Jacques Poullin) เพื่อสร้างสรรค์และวิจัยดนตรีประเภทนี้โดยเฉพาะ รวมถึงก่อตั้งสตูดิโอในการทำงานที่เกี่ยวกับอิเล็กโทรอะคูสติกเป็นแห่งแรก ทั้งนี้ปิแอร์ แชฟเฟอร์ยังได้อธิบายวิธีการฟังดนตรีมิวสิคคงเคร็ตไว้ด้วย โดยเรียกวิธีการฟังนี้ว่า “อะคูสแมติก (Acousmatic)” ประโยชน์ของการฟังในลักษณะนี้ก็เพื่อให้เราจดจ่ออยู่กับเสียงนั้นๆ โดยไม่ต้องนำสิ่งที่เห็นมาตีความ ทำให้เรารับรู้ถึงเนื้อเสียงแท้ๆ เสียงที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งเสียงเครื่องดนตรี เสียงธรรมชาติ หรือเสียงที่ผ่านการสังเคราะห์ก็ได้ ตราบใดที่เราไม่เห็นที่มาของเสียงก็สามารถเรียกว่า Acousmatic ได้ทั้งหมด ซึ่งปิแอร์ แชฟเฟอร์ ได้นำคำว่า Acousmatic มาจากคำในภาษากรีก มีจุดเริ่มต้นมาจากปีธากอรัส นักปราชญ์ชาวกรีก ที่สอนลูกศิษย์อยู่ด้านหลังผ้าม่านโดยที่ลูกศิษย์จะได้ยินเพียงเสียงและไม่สามารถมองเห็นตัวของเขาได้

Pierre Schaeffer and GRM

ปิแอร์ แชฟเฟอร์ และห้องทำงานมิวสิคคงเคร็ต (GRM) สุดล้ำ

นอกจากนี้ยังมีศิลปินหัวก้าวหน้าอีกหลายๆ ท่านที่หันมาทดลองกับเสียงที่ถูกบันทึกไว้ อาทิเช่น โอลิวีเย่ร์ เมซิออง (Olivier Messiaen), ปิแอร์ บูเลซ์ (Pierre Boulez), เอียนนิส เซนาคิส (Iannis Xenakis), และคาร์ลไฮนส์ สต็อกฮาวเซ่น (Karlheinz Stockhausen) เอียนนิส เซนาคิส ได้สร้างสตูดิโอของตัวเองขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในปีค.ศ. 1977 บูเลซ์ ก็ได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางเสียงขึ้นอย่างใหญ่โตภายใต้ชื่อ IRCAM (Institue de Recherche et Coordination Acoustique/Musique) ณ กรุงปารีสเช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกันนี้เองที่ประเทศเยอรมนี สต็อกฮาวเซ่นได้นำแนวคิดของมิวสิคคงเคร็ต มาสร้างสรรค์ดนตรีที่มีผลลัพธ์ทางเสียงที่แตกต่างจากมิวสิคคงเคร็ต และให้ชื่อว่า “อิเล็กทรอนิสช์ มูซิค” (Elektronische Musik) โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างเสียงที่มาจากการสังเคราะห์ขึ้นจากวงจรไฟฟ้า เสียงที่ผลิตขึ้นนั้นถูกเรียกว่า “ไซน์เวฟ” สต็อกฮาวเซ่นและเฮอร์เบิร์ต อิเมิร์ต (Herbert Eimert) กล่าวว่า เสียงไซน์เวฟที่ได้ คือเสียงที่บริสุทธิ์ จากจุดนี้เองทำให้เกิดการสร้างดนตรีแบบใหม่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกฏเกณฑ์ทางโครงสร้างและเนื้อเสียงในรูปแบบเดิมๆ ของดนตรีคลาสสิคที่ใช้เครื่องดนตรีเล่น และด้วยความแตกต่างกันของระดับเสียง (คลื่นความถี่) และความดัง-เบาที่ผสมผสานกันของเสียงไซน์เวฟนั้น นำไปสู่เนื้อเสียงแบบใหม่ๆ ในสมัยนั้นงานเหล่านี้ถือเป็นงานที่อาศัยความพยายามอย่างมาก เนื่องจากในสตูดิโอมีเพียงเครื่องสร้างเสียงไซน์เวฟ (sine wave oscillator) อยู่ไม่กี่เครื่อง อีกทั้งยังมีขนาดที่เทอะทะและราคาที่สูงอีกด้วย ความยากอีกอย่างก็คือ เครื่องสร้างเสียงนี้สามารถผลิตเสียงได้ครั้งละ 1 เสียงต่อ 1 ระดับเสียง (คลื่นความถี่) มีเพียงแต่ความดัง-เบาเท่านั้นท่ีสามารถปรับได้หลายระดับ ซึ่งการสังเคราะห์เสียงในแต่ละครั้ง สต็อกฮาวเซ่นต้องทำการบันทึกเสียงในเวลาเดียวกันด้วย

Karlheinz Stockhausen in his space

ห้องทำงานของสต็อกฮาวเซ่น

จากการทดลองและเรียนรู้ดนตรีทั้งในรูปแบบมิวสิคคงเคร็ตและอิเล็กทรอนิสช์ มูซิค ทำให้สต็อกฮาวเซ่นผสมผสานดนตรีทั้งสองอย่างนี้เข้าไว้ด้วยกัน ในปีค.ศ. 1955 เขาได้รับข้อเสนอจาก WDR (Westdeutscher Rundfunk) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีให้ประพันธ์เพลงรูปแบบใหม่ สต็อกฮาวเซ่น จึงได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการผสมดนตรีทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในครั้งแรก อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในท้ายที่สุดแล้วเขาก็ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ออกมาอย่างสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ “เกสาง เด ยึงกลิง” (Gesang der Jünglinge) ที่แปลว่า บทเพลงของหนุ่มสาว (Song of the Youths)

การใช้เสียงที่ถูกบันทึกลงในเทป มาสร้างสรรค์เป็นดนตรี โดยถ่ายทอดเสียงดนตรีให้แก่ผู้ฟังผ่านลำโพงนั้น มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มมนักประพันธ์ดนตรีหัวก้าวหน้าทั้ง 2 กลุ่ม อย่าง มิวสิคคงเคร็ตในประเทศฝรั่งเศสและอิเล็กทรอนิสช์ มูซิค ในประเทศเยอรมนีซึ่งนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จะว่าไปแล้ว ดนตรีชนิดนี้ก็ไม่ได้เป็นดนตรีที่ใหม่อะไร เพราะเกิดขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว อย่างไรก็ดีดนตรีอิเล็ก-โทรอะคูสติกก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของดนตรีในศตวรรษที่ 20 ที่ช่วยเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์เสียง ให้มีสีสันหลากหลายมากขึ้น ไว้คราวหน้ามาดูกันว่า ยังมีดนตรีแบบไหนบ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีที่เรียกว่า ดนตรีอิเล็ก-โทรอะคูสติก แล้วดนตรีประเภทนี้จะถูกนำมาใช้กับอะไรได้บ้าง โปรดติดตามใน Blog หน้าของ Lab 5 Soundworks นะคะ

ศิลปินที่เกี่ยวข้อง

ศิลปินที่เกี่ยวข้อง

Bernard Parmegiani | Denis Smalley | Edgard Varèse | Francis Dhomont | François Bayle |

Iannis Xenakis | Karlheinz Stockhausen | Luc Ferrari | Luigi Russolo | Michel Chion

| Olivier Messiaen| Pierre Boulez | Pierre Henry | Pierre Schaeffer

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page