top of page

Land & Skin (The Ballad of Nak Phra Khanong) | Behind the Sound


Lab 5 Soundworks กลับมาแล้วจ้าาาาาา ห่างหายกันไปนานมากสำหรับการเขียน blog จริงๆ พวกเราก็ยังคง active กันอยู่นะ เพียงแต่ว่ายังไม่มีเวลามาเขียนแบบจริงๆ จังๆ เพราะปีนี้ เราได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมคนเจ๋งๆ เพียบเลย หนึ่งในงานที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ประเดิมปีนี้ก็คือการทำดนตรีประกอบละครเวที Land & Skin (The Ballad of Nak Phra Khanong) จาก Friend’s Laboratoty (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) งานนี้เนี่ยะ ไม่ใช่แค่การทำดนตรีประกอบละครเวทีธรรมดาๆ แต่เป็นละครเวทีที่เป็น Movement คือเน้นการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นตัวดำเนินเรื่อง แทนการพูดแบบปกติทั่วไป (แหม่...แค่นี้ใจก็เต้นตึกตักแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น Land & Skin ยังได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงในงาน World Stage Design 2017 ณ Taipei University of the Arts ประเทศไต้หวันกันเลยทีเดียว เกริ่นมาซะเยอะขนาดนี้ เรามาดูกันว่า กว่าจะเป็นละครสักเรื่องนึงต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ลุยยยย !!

ประมาณช่วงเดือนเมษายนปี 2560 Lab 5 Soundworks ได้รับโทรศัพท์กริ๊งกร๊างมาจากพี่นุ้ย (เราเคยทำละครเวทีมากนากและชาวพระโขนง มาด้วยกันเมื่อปี 2558) ว่าอยากให้มาช่วยออกแบบเสียงให้กับละครเวทีเรื่องใหม่ที่มีชื่อว่า Land & Skin ละครเรื่องนี้เป็นการตีความต่อยอดมาจากละครเวทีมากนากเดิมที่เคยทำไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ละครจะแตกต่างไปจากเดิมตรงที่ ใช้ Movement เป็นหลัก บทพูดน้อยและต้องการให้ดนตรีช่วยเล่าเรื่อง โอ้ววว...มันน่าตื่นเต้นมาก เพราะไม่ยังเคยทำดนตรีประกอบ Movement มาก่อนและคิดว่ามันเป็นอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายสำหรับพวกเราพอสมควร เลยตัดสินใจตกลงร่วมงานด้วยอย่างไม่ลังเล

นัดคุยงานเตรียมโปรดักชั่น

การนัดคุยกันครั้งนี้ต่างจากการคุยงานปกติทั่วไปเล็กน้อย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของงานนิดหน่อย จากเดิมจะให้เป็นละครพูดก็เปลี่ยนเป็นละครที่เป็น Movement ช่วงที่เจอกันเลยเป็นเพียงการคุยกันของทิศทางงานทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ยังไม่มีบทที่เสร็จสมบูรณ์ แต่การตีความและรายละเอียดของเรื่องค่อนข้างชัดเจนแล้ว

ในความเป็นจริง ตำนานเรื่องแม่นาก มีอยู่หลากหลายตำนานแต่ส่วนมากจะมุ่งเน้นไปที่การแก้แค้น การรอคอย ความรัก ความเกลียดชัง และความชั่วร้ายของผี ซึ่งแม่นากในเวอร์ชั่นนี้จะโฟกัสไปที่ความรักที่แม่นากมีต่อพ่อมาก การต่อสู้กับสภาวะในจิตใจ (รัก โลภ โกรธ หลง) การฟื้นคืนชีพขึ้นมาเพื่อคนที่รัก รวมถึงการปล่อยวางกิเลสตัณหาทั้งปวงในบั้นปลายชีวิต เรื่องจะมีความเป็นผู้หญิงมาก และไม่โหดร้ายเหมือนแม่นากในตำนานอื่นๆ ความยาวของละครจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 นาที ซึ่งจะต้องใช้เพลงเป็นหนึ่งองค์ประกอบในการดำเนินเรื่องทั้งหมด

จากการประชุมกันวันนั้น ทำให้เราต้องทำการบ้านมากมายเลย ต้องศึกษาดูว่าการทำดนตรีให้กับ Movement ต้องทำยังไง ต้องสื่อสารกับผู้กำกับและนักแสดงอย่างไร นอกจากจะศึกษาด้วยตนเองแล้ว ก็ยังต้องปรึกษาครูสายละครอย่างครูมิ (อาจารย์สินนภา สารสาส) ด้วย

ทำการบ้าน

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้รับบทจากน้องหยก ผู้กำกับมา แอบตกใจเล็กน้อยเพราะบทมีอยู่ 3-4 หน้าแค่นั้น (ฮ่าๆๆ) ไม่มีบทพูดเลย ในบทบอกแค่ว่า นากต้องการเคลื่อนไหวอย่างไร สถานการณ์คืออะไร และดำเนินเรื่องด้วยวิธีใด ความสนุกและตื่นเต้นในการทำเพลงจึงมากขึ้นไปอีก เพราะข้อมูลน้อยมาก ทำให้เราต้องพูดคุยกับผู้กำกับเยอะกว่าปกติเพื่อให้เข้าใจทุกอย่างตรงกัน

หลายๆ คนอาจสงสัยว่า เอ้อ.. ถ้าเราต้องทำงานกับดนตรี เราจะต้องสื่อสารกับคนทำดนตรีประกอบหรือนักออกแบบเสียงยังไง เช่น กลัวว่าถ้าพูดศัพท์ดนตรีไม่ได้จะทำงานไม่ได้หรือไม่รู้ดนตรีเลยจะทำงานได้ยังไง ซึ่งจริงๆ แล้ว การสื่อสารหรือทำงานกับคนทำดนตรีเป็นอะไรที่ง่ายมากเลย เพียงแค่เราต้องรู้ให้ได้ว่าเราต้องการอะไร อยากให้งานเราออกมาเป็นแบบไหน พอเคลียร์กับความต้องการของตัวเองได้แล้ว ก็อธิบายให้คนทำดนตรีฟัง หน้าที่ของคนทำดนตรีก็คือ จะตีความความต้องการเราให้ออกมาเป็นเสียง ซึ่งถ้าจะให้คุยกันง่าย อาจต้องหา Reference ของเพลงที่รู้สึกว่ามันเข้ากับความต้องการของเรามาใช้ในการสื่อสารกับคนทำดนตรี แล้วก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมระหว่างที่ทำงาน วิธีนี้นอกจากทั้งสองฝ่ายจะได้เรียนรู้การทำงานของกันและกันแล้ว ยังทำให้เราได้สื่อสารกันมากขึ้นด้วย

อ่ะ กลับมาที่ละครเวที ในการทำดนตรีประกอบครั้งนี้ แนวดนตรีมีความเป็น Noise ผสมกับ Sound Design, Electronic Music และ Electroacoustic Music ซึ่งความ Noise ก็จะไม่หนักขนาดนั้น เพราะแม่นากในเวอร์ชั่นนี้มีความเป็นผู้ยิ๊งผู้หญิง ดนตรีก็จะมีความหวานซึ้งผสมอยู่ด้วย หน้าที่ของดนตรีนอกจากจะแสดงอารมณ์ของนากแล้ว ยังต้องเล่าเรื่องการเดินทางของนากด้วย จากคนกลายเป็นผี จากผีฟื้นคืนชีพขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคน หรือแม้กระทั่งการเล่าสถานการณ์ปัจจุบันสลับกับสภาวะภายในจิตใจของแม่นาก ในการทำงานครั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องมี Reference มาคุยกัน เพราะเราเคยร่วมงานกันมาก่อนแล้ว เลยเข้าใจได้ว่าดนตรีที่ออกมาจะเป็นประมาณไหน

การออกแบบเสียงต้องพิถีถันมาก เพราะว่าต้องเป็นดนตรีทั้งหมด 50 นาที จะต้องทำดนตรีแบบไหนให้การแสดงไม่น่าเบื่อ จะต้องทำดนตรีแบบไหนที่ช่วยเล่าเรื่องให้คนดูเข้าใจ และอีกหลากหลายคำถามที่ต้องคิดและวางแผน

การทำงานกับผู้กำกับ นักแสดง นักออกแบบแสงและนักออกแบบฉาก

โดยปกติแล้วการทำงานละครเวที เราจะสื่อสารผ่านผู้กำกับซะส่วนใหญ่ แต่ละครเรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะมาก เราต้องสื่อสารกับทุกฝ่ายจริงๆ เริ่มจาก

1) ผู้กำกับ ถือเป็นปราการด่านแรกที่เราต้องสื่อสาร เพราะผู้กำกับจะต้องรู้ทุกอย่างในโปรดักชั่น ในโปรฯ นี้เราได้น้องหยกมารับตำแหน่งเหมือนเดิม (เราเคยทำงานร่วมกันมาก่อนจากละครมากนากเมื่อปี 2558) น้องหยกสื่อสารชัดเจน อธิบายภาพรวมและความต้องการของละครได้ดี ทำให้เราไม่มีปัญหาใดๆ ในการทำงาน ผู้กำกับจะคอยอธิบายให้ฟังว่าในฉากนี้ต้องการดนตรีแบบไหน ไฟช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร ฉากจะเป็นยังไง นักแสดงจะยืนตรงไหน ทำให้คนทำดนตรีเห็นภาพต่างๆ มากขึ้น พร้อมที่จะเริ่มลงมือทำดนตรี

2) นักแสดง เนื่องด้วยละครเป็น Movement เราต้องสื่อสารกับนักแสดงมากกว่าปกติ เราต้องรู้ว่านักแสดงทำงานยังไง แม่นากของเราในครั้งนี้คือ พี่อ๋อ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จบด้านการแสดงมาโดยตรงจากต่างประเทศ เราไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ฉะนั้นเราต้องคุยกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิธีคิดในการแสดง ซึ่งวิธีคิดของนักแสดงสาย Movement ก็คือ ผู้กำกับจะอธิบายอารมณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเรื่องและช่วยกันกับนักแสดงในการตีความสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นท่าทาง เท่าที่สังเกตจะเห็น Movement ที่ชัดๆ อยู่ 3 ลักษณะคือ ท่าทางของคนเป็นขณะที่กำลังจะคลอดลูก ท่าทางของคนตายหรือผีแม่นากที่ดำเนินเรื่อง และสุดท้ายคือท่าทางของสภาวะในจิตใจของแม่นาก (รัก โลภ โกรธ หลง ที่เข้าครอบงำ) เป็นงานหนักของนักแสดงเหมือนกันที่จะต้องตีความและแยกแยะ Movement นั้นๆ ให้ชัด เพื่อให้คนดูเข้าใจเรื่องทั้งหมด

ด้วยความที่เราเป็นมือใหม่ในการทำดนตรีประกอบ Movement เราจึงขอให้พี่อ๋อถ่ายวีดีโอตอนซ้อมมาให้ เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพการทำงานของนักแสดง เห็นท่าทาง อารมณ์และจังหวะการเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งวิธีนี้เวิร์คมาก พอเราเห็นภาพเราก็ได้ยินเสียงอีกมามายตามมา วิธีการนี้ทำให้ฝ่ายดนตรีค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำงานกับ Movement ได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากพี่อ๋อแล้วก็ยังมีน้องๆ นักแสดงอีกหลายชีวิตด้วยกันได้แก่ น้องอู๋ (พี่มาก) น้องเงาะ น้องเต๋า น้องโฟล์ค และน้องป่าน (ชาวบ้านและสภาวะของนาก)

ซ้อม ซ้อม ซ้อม

3) นักออกแบบแสงและนักออกแบบ Visual สำหรับละครเรื่องนี้เราได้พี่ฉิง (Duck Unit : กลุ่มเป็ด) มาออกแบบแสง "แสง" ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยในการเล่าเรื่อง อย่างที่บอกไปว่าเป็นเรื่องที่ผสมความเป็น ความตาย สภาวะในจิตใจต่างๆ ฉะนั้นแสงต้องบอกคนดูได้ว่าตอนนี้เหตุการณ์เป็นอย่างไร แม่นากกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ซึ่งแสงกับเสียงจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน สำหรับคนทำดนตรี ต้องรู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ไฟจะเป็นสีอะไร เพื่อที่จะได้เลือกเสียงที่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น ฉากรัก แสงจะมีความอบอุ่น มากนากอยู่ในภวังค์แห่งความรัก ความสุข เสียงที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นเสียง Drone ที่โอบอุ้มความรักของทั้งสองไว้ ผสมผสานกับเสียงเปียโนที่ผ่านการ Processed ให้เสียงไม่ปกติ เพราะเป็นความรักระหว่างคนกับผี เป็นต้น ระหว่างการทำดนตรีเราอาจจะยังไม่เห็นว่าแสงจะทำงานอย่างไร เพราะโดยปกติแล้วการทำแสงจะเริ่มต้นขึ้นใกล้ๆ วันแสดง ดังนั้นเราจะใช้วิธีคุยหรือไม่ก็นั่งสังเกตการณ์เอาว่าพี่ฉิงสื่อสารกับผู้กำกับอย่างไรบ้างนั่นเอง

ในเรื่องของ Visual ก็มีน้องโน้ต น้องเจ มาประจำการ (แอบได้ยินมาว่าน้องทั้งสองเพิ่งเคยได้ทำ Visual สำหรับละครเวทีเป็นครั้งแรกด้วย) Visual ที่เกิดขึ้นในละครนี้ เป็นเหมือนส่วนเติมเต็มให้ละครมีความสมบูรณ์มากขึ้น น้องๆ เลือกใช้ Kinect ของ Xbox มาช่วยในการจับ (detect) Movement คือเวลาที่นักแสดงเคลื่อนไหวก็จะมีภาพจับไปตามการแสดง ช่วยให้คนดูแยกแยะออกได้ว่าช่วงไหนคือช่วงสภาวะของนาก หรือช่วงไหนคือเหล่าชาวบ้าน รายละเอียดพวกนี้ช่วยให้ฝ่ายดนตรีทำงานได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างฉากที่ร่างแม่นากกำลังจะฟื้นคืนชีพจากความตาย Particles ต่างๆ จากพื้นดินก็จะค่อยๆ รวมตัวกันและสร้างเป็นร่างของแม่นาก ซึ่งตรงนี้เองทำให้เราต้องใส่รายละเอียดเสียงที่เป็น Particles เข้ามาช่วยเสริมให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

4) นักออกแบบฉาก มาถึงอีกหนึ่งตัวเอกของเรา นั่นก็คือฉากที่ออกแบบโดยพี่พึ่ง ความน่าสนใจของฉากในเรื่องนี้คือ มีการสร้างฉากโดยใช้เชือก ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงถาวร อนัตตา ฉากที่เป็นเชือกสามารถเปลี่ยนสถานะ รูปร่างและความหมายได้หลากหลายมาก อย่างในเรื่องเชือกถูกใช้เป็นหนูแดง (ลูกของนาก) เลือดเนื้อของนาก บ้าน ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งกิเลสที่เกาะกินนาก เชือกจึงเปรียบเสมือนอีกหนึ่งนักแสดงที่มีบทบาทสำคัญในละครเรื่องนี้ นอกจากนี้เชือกยังช่วยให้การเล่นแสงและภาพ มีมิติมากขึ้นอีกด้วย

เมื่อเราทราบว่าเชือกเป็นส่วนหนึ่งของละคร ทำให้การเลือกใช้เสียงของชัดเจนขึ้นด้วย เพราะเชือกที่ใช้คือเชือกฝ้าย (Cotton) เป็นวัสดุธรรมชาติ มีความออร์แกนิค เสียงที่เลือกใช้จึงเป็นเสียงที่บันทึกมาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีการสังเคราะห์และ Processed เสียงให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่เนื้อเสียงที่ได้ก็ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติอยู่ดี ใจจริงอยากบันทึกเสียงการเคลื่อนไหวของเชือกด้วย แต่ด้วยความที่เชือกมีน้ำหนักเบา ทำให้เสียงที่ได้ก็เบามากเช่นกัน บันทึกมาแล้วก็ไม่เกิดผลใดๆ จึงต้องลองค้นหาเสียงอื่นๆ มาใช้แทน

จะเห็นได้ว่าละครเวทีเรื่อง Land & Skin มีรายละเอียดในการทำงานมากทีเดียว และรายละเอียดเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนอื่นๆ ในโปรดักชั่นต้องทำอะไรบ้าง มีวิธีคิดอย่างไรบ้าง ยิ่งทำก็ยิ่งสนุกขึ้นเรื่อยๆ เลยล่ะ

ได้เวลาทำเพลง

เรียกได้ว่าจับต้นชนปลายไม่ถูกเหมือนกันนะ คือทำตัวไม่ถูกว่าต้องเริ่มทำอะไรก่อนหลัง ฮ่าๆๆ แต่สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำงานของเราชาว Lab 5 Soundworks ก็คือ การทำ Cue Sheet ในหลายๆ blog ที่ผ่านมา ทุกคนน่าจะได้รู้จักกับ Cue Sheet หรือ Cue List อยู่ประมาณนึงแล้วเนาะ Cue Sheet คือเอกสารที่บอกว่าในละครเรื่องนึงจะต้องมีเพลงอะไรบ้าง และเพลงเหล่านั้นอยู่ในฉากไหน รายละเอียดคืออะไร ทำเสร็จหรือยัง อะไรทำนองนี้ แม้ว่าละครเรื่องนี้คิวเพลงจะไม่ได้เยอะอะไร (แค่เพลงยาวมากๆ เท่านั้นเอง) แต่ก็ต้องทำเอกสารไว้กันหลงกันลืม ถ้าเกิดต้องเพิ่มหรือลดเพลง เราจะได้ไม่งงว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งต้องขอบคุณ Cue Sheet ที่ทำให้เรามีสติมากขึ้นเวลาทำงาน หลายคนอาจจะเบื่อกับการมานั่งทำ Cue Sheet แต่เชื่อเถอะว่า มันจะมีประโยชน์มากๆ เลยถ้าเกิดว่าในชีวิตเราต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน

หลังจากได้ Cue Sheet มาแล้ว เราก็คุยกับผู้กำกับว่าอยากได้เพลงไหนใช้ซ้อมก่อนและเริ่มทำเพลงจากฉากนั้นๆ ไล่ไปเรื่อยๆ จนจบเรื่อง ในช่วงแรกเราจำเป็นต้องเร่งทำเพลงให้จบเรื่องก่อน เพื่อให้นักแสดงใช้ซ้อม เมื่อเป็นละคร Movement ดนตรีกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับนักแสดง เพราะดนตรีช่วยสร้างบรรยากาศและ Set mood ให้นักแสดง อีกทั้งยังช่วยดำเนินเรื่องให้กับการซ้อมด้วย

เมื่อทำดนตรีเสร็จแล้ว เราเลือกที่จะโน้ตให้ผู้กำกับทราบว่าในวินาทีหรือนาทีไหนจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเพลง เช่น 00.00 - ฟ้าวิปริต 02.12 - นากค่อยๆ ลุก เป็นต้น เพื่อให้ผู้กำกับเข้าใจว่าเราใช้เสียงหรือเล่าเหตุการณ์อะไร ในช่วงไหนบ้าง จากจุดนั้น ดนตรีก็พัฒนาไปเรื่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนความสั้นยาวของเพลงไปตามคิว เมื่อมีการซ้อมเราก็แลกเปลี่ยน VDO การซ้อมกัน เพื่ออัพเดทความคืบหน้าของละคร

วัตถุดิบในการทำเพลงของเรานั้นหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่บันทึกมาเอง เสียงเครื่องดนตรีไทย เสียงที่นำมา Processed เสียงที่สังเคราะห์จาก Modular Synthesizer เสียงที่สังเคราะห์จาก Plug-ins ต่างๆ รวมถึงเสียงพูดและเสียงร้องด้วย สิ่งที่น่าสนุกก็คือ การที่เราได้ทดลองและเฟ้นหาเสียงที่เหมาะกับละครเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นละครที่มีทั้งความเป็นไทยโบราณและความร่วมสมัย ดนตรีที่ออกมาจึงไม่ใช่ดนตรีไทยเพียงอย่างเดียว หรือไม่ใช่เพลงที่เป็น Electronics อย่างเดียว แต่เราเลือกที่จะผสมผสานดนตรีที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับ Land & Skin

เสียงที่บันทึกมาเอง ส่วนมากจะเป็นเสียงบรรยากาศแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เสียงจักจั่นตามต่างจังหวัด เสียงฝนตก ฟ้าร้อง (โชคดีมากที่ช่วงนั้นมีพายุฝนฟ้าคะนองพอดี ทำให้เราได้เสียงฟ้าร้องที่ดุเดือดสุดๆ) เสียงบรรยากาศเหล่านี้บ่งบอกสถานที่ให้กับละครได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเสียงที่เกิดจากระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ถือเป็นการนำคนดูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการชมละคร เสียงธรรมชาติที่ใช้ก็มีทั้งเสียงธรรมชาติเพียวๆ และเสียงธรรมชาติที่ผ่านการ Processed ให้กลายเป็น Noise

เสียงอีกเสียงที่ขาดไม่ได้เลยคือ เสียงร้อง เราได้พี่น้ำ อัญชลี อิสมันยี (วงคีตาญชลี) มาช่วยร้องเพลงกล่อมลูกให้ เพลงกล่อมลูกที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก นั่นคือเพลงวัดโบสถ์ พี่น้ำเล่าว่า จริงๆ เคยมีโอกาสร้องเพลงนี้มาแล้วครั้งนึง ซึ่งเรื่องแม่นากที่เคยร้องให้นั้น มีการตีความแตกต่างจากแม่นากเวอร์ชั่นของ Land & Skin เพราะแม่นากในเวอร์ชั่นนี้ มีเรื่องศาสนาพุทธมาเกี่ยวข้อง (การยึดมั่นถือมั่น) พูดถึงเรื่องความรักเป็นหลัก มีความอ่อนหวาน และมั่นคงในความรักอย่างมาก นอกจากการตีความบทแล้ว ยังต้องออกแบบเทคนิคการร้องด้วย ต้องตีความว่าแม่นากคงเป็นสาวชาวบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคุณยายของพี่น้ำ ซึ่งไม่มีความรู้ทางดนตรีมาก่อน แต่สามารถร้องเพลงได้ดี เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างหัวก้าวหน้าและร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านบ้าง ฉะนั้นการร้องเพลงจึงไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการร้องมากนัก เน้นให้มีการสะอื้นบ้าง แบ่งวรรคตอนไม่ต้องเป๊ะมาก เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติของคนธรรมดามากที่สุด

เราให้พี่น้ำลองร้องหลายๆ แบบ ทั้งแบบไทยเดิม แบบชาวบ้าน แบบสะอึกสะอื้น เพื่อเก็บเสียงเหล่านั้นไว้ใช้ เผื่อต้องนำไป Processed เป็น Noise หรืออะไรทำนองนั้นด้วย เพราะเราไม่อยากให้มีเสียงร้องเพลงของนากอยู่แค่ฉากเดียว แต่อยากให้เสียงนั้นแทรกอยู่ในหลายๆ ที่ ระหว่างการดำเนินเรื่องด้วย


เมื่อละครถูกซ้อมและพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนบทบ้าง เพื่อให้ Sequence ต่างๆ ในการเล่าเรื่องลื่นไหลมากขึ้น จึงมีการแทรกบทพูดที่เป็นสภาวะในจิตใจเพิ่มขึ้นมา ในตอนแรกบทพูดเหล่านั้นใช้นักแสดงพูด แต่ทำให้คนดูสับสนมากขึ้นว่าชาวบ้านที่พูดคำเหล่านั้นคือใครกันแน่ เราจึงได้พูดคุยกัน พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนบทพูดนั้น เป็นเสียง Sound Design เพื่อแยกให้ชัดเจนไปเลยว่าแท้จริงแล้วเสียงนั้นเป็นเสียงความทรงจำของนาก ไม่ใช่เสียงของเหล่าชาวบ้าน

ขั้นตอนต่างๆ ในการทำเพลงก็มีประมาณนี้ หลังจากที่ดนตรีทุกอย่างลงตัวแล้ว สิ่งต่อไปที่ทำก็คือการนำเพลงไปผสมเสียงหรือที่รู้จักกันว่า Mixing Session เรามีโอกาสได้ไปมิกซ์เสียงที่ Ecru Studio ด้วยลำโพง Yamaha NS-10 ลำโพงนี้ เป็นลำโพงที่ว่ากันว่าถ้าเรามิกซ์เสียงในลำโพงนี้ได้ดี นำเพลงไปเล่นที่ลำโพงไหน เสียงก็จะออกมาดีแน่นอน ฮ่าๆๆ จริงๆ แล้วที่เราต้องการลำโพงใหญ่ๆ ในการมิกซ์ไม่ใช่เพราะเค้าว่ากันว่าใช้แล้วดีหรือไม่อย่างไร แต่ด้วยลำโพงที่ใหญ่ทำให้แรงขับของเสียงมากขึ้น ทำให้เราได้ยินข้อบกพร่องต่างๆ ของงานเราได้ดี และเมื่อเราเจอข้อผิดพลาดเราก็จะได้แก้ไขได้ทัน อีกทั้งลำโพงที่ใช้ในโรงละครมีขนาดใหญ่มาก ทำให้เราต้องลองเสียงจากลำโพง Monitor ที่มาตรฐานด้วย

นอกจากเรื่องการทำดนตรีแล้ว เราได้ออกแบบวิธีการ Operate เสียงให้กับน้องเอมด้วย เพื่อให้การเปิดเพลง ต่อเพลง เฟดเพลงเป็นไปอย่างธรรมชาติ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป

จากนั้นเมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยดี เราก็เตรียมตัวที่จะเดินทางไปแสดงที่งาน World Stage Design 2017 ณ ประเทศไต้หวันกันแล้วล่ะ เย่ !!!

Blog ต่อไปจะเป็นการแชร์ประสบการณ์การทำงานต่างแดนของทีม Land & Skin และ Lab 5 Soundworks รวมถึงบรรยากาศการใช้ชีวิตในไต้หวันตลอด 8 วัน ยังไงก็ฝากติดตามด้วยนะฮะ

Special Thanks

คุณครูที่เคารพรัก : ครูมิ ครูอุ๋ย พี่นิกร Ecru Studio

พี่ๆ น้องๆ ทีม Designers : พี่นุ้ย พี่ฉิง พี่พึ่ง พี่อ๋อ น้องโน้ต น้องเจ

น้องๆ ABAC : น้องหยก น้องเอม น้องน้ำหวาน น้องเปี้ยว น้องเจนนี่ น้องนิก น้องมิ้น น้องป่าน น้องอู๋

น้องๆ มหาวิทยาลัยบูรพา : น้องเงาะ น้องเต๋า น้องโฟล์ค

นักร้องเสียงดี : พี่น้ำ คีตาญชลี

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page