top of page

มาก นากและชาวพระโขนง | Behind The Sound

มากนากและชาวพระโขนง

เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Lab 5 Soundworks ได้มีโอกาสร่วมงานละครเวทีกับอาจารย์และน้องๆ จาก ABAC ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเราที่ได้ทำงานกับสถาบันนี้ ภายใต้ชื่อเรื่อง “มากนากและชาวพระโขนง” มันคือเรื่องผีแม่นากที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง ครั้งนี้เราได้รับมอบหมายในการดูแลเรื่องออกแบบเสียง ทั้งดนตรีและ Sound Effect ซึ่งละครเรื่องนี้จะได้เดินทางไปเล่นที่งาน PQ 2015 (The Prague Quadrennial of Performance Design and Space 2015) ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เราจึงเขียน Blog นี้เพื่อเป็นบันทึกและแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเราเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานดนตรีสำหรับละครเวทีให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย

ก่อนหน้าที่จะได้ไปเจอทีมงานตัวเป็นๆ เราต้องเตรียมตัวโดยการอ่านบทเพื่อพยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุด ในการอ่านบทของเรานั้นจะอ่านทั้งเรื่องโดยไม่คิดอะไรรอบนึงก่อน ในรอบที่สองเราจะอ่านและจดลงไปในบทว่าตรงไหนที่ต้องการเสียงอะไรบ้าง เราจะพยายามเรียงลำดับก่อนหลังเป็นหมายเลข เช่น เสียงเพลงแรกสุดในฉากแรกเป็นหมายเลข 1 เสียงเพลงต่อไปก็เป็น 2, 3, 4 ไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปแล้วในบทมักจะมี Stage Direction ซึ่งจะเป็นเหมือนระหว่างบรรทัดที่คอยบอกว่าบทต้องการแสงแบบไหนเสียงแบบไหนนักแสดงแบบไหนในจุดนั้นๆ อย่างคร่าวๆ ในการอ่านรอบที่สามเราจะดูเฉพาะจุดที่เราจดไว้ว่าต้องการเสียงแบบไหน อารมณ์แบบไหน ซึ่งในขั้นตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะหาเพลง Reference เพื่อเอาไว้ใช้สื่อสารกับทีมงานที่ไม่ใช่นักดนตรีได้ง่ายขึ้น (การอธิบายอากาศธาตุอย่างดนตรีด้วยคำพูดมันเป็นเรื่องที่ยาก) แต่ในครั้งนี้เราไม่ได้หา (แล้วจะอธิบายยืดยาวทำไม) หลังจากอ่านรอบที่สามมันก็จะยังมีบางจุดที่เรายังไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ค่อยไปขอรายละเอียดจากทีมงานในขั้นตอนต่อไปก็ยังไม่สาย

ความยากของการทำเสียงให้ละครเวทีคือเราต้องมโน ภาพ, ฉาก, การกระทำ หรือแม้แต่แสง(โดยส่วนตัวเรามองว่าแสงทำหน้าที่เหมือนมุมกล้องในภาพยนตร์) จากบทที่ได้รับมา แน่นอนว่าระหว่างที่ทำจะต้องมีการแก้ไขรายละเอียดเสียงต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาในเสียงแต่ละอันเพื่อให้เข้ากับการแสดงบนเวทีด้วย เรายังคงต้องมโนไปเองแบบนี่เรื่อยๆ จนกว่าจะผ่านการซ้อมครั้งแรกหรือจนกว่าจะได้เข้าไปดูการซ้อมจริง

หลังจากอ่านบทแล้วก็จะมาสู่การพบปะทีมงาน ซึ่งวันนี้จะมี พี่ฉิง นักออกแบบแสง พี่นุ้ย อาจารย์ผู้ดูแลการทำงานใน Production นี้ น้องหยกผู้กำกับ น้องอีฟฝ่ายฉาก / เทคนิค และน้องเปรียว ดีไซน์เนอร์ / นักแสดง

ในเรื่องนี้ก็มีการตีความใหม่ โดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครไอ้มาก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์และหน้าที่ของ แม่-ลูก (แม่ของมาก-มาก และ นาก-ลูก), ผัว-เมีย (มาก-นาก) โดยโจทย์แรกๆ ที่เราได้รับคือ อยากให้มันมีความเป็น Noise, Ambient Music แต่อยากให้มีกลิ่นแบบไทยนิดๆ ด้วย ในขั้นตอนนี้ถ้าเป็นภาพยนตร์จะเรียกว่า Spotting Session ก็คือผู้กำกับจะมาเล่ารายละเอียดต่างๆ และดูบทไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่ทำงานมองไปในทิศทางเดียวกัน ช่วงนี้สงสัยอะไรก็ให้ถามไปเลย

ขั้นต่อไปก็เป็นงานเอกสารล้วนๆ เอกสารที่ว่าก็คือการทำ Cue List และการจดทุกสิ่งอย่างที่เราต้องการสื่อสารกับคนเปิดเสียงลงไปในบท โดย Cue List จะเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อป้องกันการตกหล่นของคิวเสียงต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นช่วงใกล้ส่งงานล่อกๆ คิวที่ทำอยู่ก็ไม่เสร็จ คิวที่เสร็จแล้วก็โดนแก้ แก้ไปแก้มาทำไม่ครบเพลงหายก็มี ดังนั้นเรื่องแบบนี้ทำเถอะครับทำในวันที่ยังมีสติครบๆ จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน ส่วนการทำบทสำหรับคนเปิดเสียงนั้น ก็เพื่อการสื่อสารและความเข้าใจที่ตรงกัน คนเปิดเสียงเหมือนเป็นหน้าตาของ Composer เลยต้องสื่อสารกันให้มาก รายละเอียดเยอะมีทั้งเสียงเข้าทันทีหรือค่อยๆ เข้า ออกทันทีหรือค่อยๆ ออก ตรงไหนดัง ตรงไหนเบา แล้วยิ่งละครเรื่องนี้เราต้องเปิดหมดทุกคิวเสียงด้วย (ไม่มีเล่นดนตรีสด) แต่โชคดีที่ละครเรื่องนี้ทีมงานที่มีความมืออาชีพกันมากรายละเอียดต่างๆ เข้าใจตรงกันไม่ยาก และคิวเสียงไม่ได้ซับซ้อนเกินไป ไม่มีการทับซ้อนกันของคิวเสียง บางเรื่องจะมีเปิดเสียงเพลงในขณะที่มีเสียงบรรยากาศ ในขณะเดียวกันก็จะมีเสียง Sound Effect ซึ่งขณะนั้นนักแสดงกำลังพูดอยู่ (งงแล้วล่ะสิ) จะเห็นว่ามี Layer ของเสียงที่ซ้อนทับกันอยู่ ซึ่งถือเป็นความซับซ้อนรูปแบบหนึ่ง

หลังจากที่เราไปพบทีมงานไม่กี่วัน เราก็ได้รับวีดีโอการซ้อมครั้งแรกเอามาไว้ใช้ทำงานแล้ว เย่!! (กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ) ไม่งั้นเราคงต้องงานมโนกันไปจนกว่าจะได้เข้าโรงละครเป็นแน่ แต่ถึงอย่างนั้น Timing หรือจังหวะเวลาการแสดงในตอนนี้ก็คงยังไม่นิ่งนัก จนกว่าจะเป็นการซ้อมช่วงท้ายๆ ก่อนการแสดงแล้ว ดังนั้นเอามาอ้างอิงกับ Tempo และระยะเวลาของเพลงเราได้ในระดับนึง เตรียมตัวเตรียมใจไว้แก้เรื่องพวกนี้ได้แน่นอนครับ

อัดเสียงนักแสดงในโรงละคร

อัดเสียงนักแสดงในโรงละคร

การเริ่มงานเป็นสิ่งที่ยากมาก คิดอะไรไม่ค่อยออก อ่านบทวนไปวนมา เรามักจะแก้ปัญหานี้ด้วยการหาวัตถุดิบดูว่าเรามีเสียงอะไรเก็บไว้บ้าง เลยนึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะหาเสียงจำพวกวัดๆ พระๆ เพราะมันดูเชื่อมโยงกับความเป็นผีแบบไทยๆ ดี ซึ่งเราก็เคยไปอัดเสียงฆ้องขนาดใหญ่มาก ที่วัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ นอกจากนี้เรายังมีเสียงพระสวดที่มีความหมายไปในทิศทางเดียวกับละครด้วย ช่างโชคดีจริงๆ หลังจากนั้นเราจะนำเสียงนั้นมาทำความสะอาด (เอาเสียงที่ไม่ต้องการออก) แปรรูปและทดลองต่างๆ เพื่อจุดประกาย

ก็มาถึงขั้นตอนลงมือทำเพลงจริงๆ แล้ว ในช่วงนี้เราก็จะทยอยทำ Demo แรกของคิวเสียงที่เราคิดว่าสำคัญ ที่น่าจะเป็น Theme ของเรื่องนี้ก่อน โดยพยายามใช้เสียงจากคอมล้วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ไข ในตอนนั้นเราก็พยายามทำเพลงเกาะกับดนตรีแบบ Noise และ Ambient Music โดยเรารู้สึกว่าไม่อยากใช้เครื่องดนตรีไทยเข้ามาผสมเท่าไรนัก (แต่สุดท้ายก็ต้องใช้เพื่อให้มีความไทยชัดขึ้น) จึงพยายามจะใช้ทำนองสั้นๆ ที่แสดงถึงความไทยแทน โดยคิวแรกที่เราเลือกทำคือ Coming Back ซึ่งเป็นคิวเพลงแรกสุดของเรื่องฉากนี้พูดถึงการเดินทางกลับบ้านของไอ้มาก ฉากนี้จะมีความสัมพันธ์กับฉากสุดท้ายซึ่งเป็นการเดินทางมาพระโขนงและเดินทางออกไปตามลำดับ หลังจากนั้นเราก็จะได้เพลง Farewell ซึ่งเป็นเพลงของฉากสุดท้ายตามมาด้วย อย่างที่บอกว่าเราต้องการให้มันเชื่อมโยงกัน จะเห็นได้ว่ามันจะมีชุดทำนองที่เหมือนกันแทรกอยู่ในเพลงและตอนท้ายด้วย

เพลง Dark Shaman และ Love as Pain ถือเป็น 2 เพลงที่อยู่กับฉาก Climax ของเรื่อง และ 2 เพลงนี้ต้องมีความแตกต่างกัน เพราะความหมายของทั้ง 2 ฉากแตกต่างกัน แต่มีอารมณ์ใกล้เคียงกัน คือ การไล่ผีและการไล่ความชั่วร้าย ซึ่งเจตนาของนางเหมือน (แม่ของมาก) ต้องการไล่นางนากด้วยมนต์ดำ (เพลง Dark Shaman) และมนต์ดี (เพลง Love as Pain) เพื่อกำจัดนางนาก ให้ไปจากชีวิตมาก ซึ่ง 2 เพลงนี้เราก็พัฒนามาจากเสียงสวดของพระนั่นเอง

เมื่อได้เพลงหลักๆ มาแล้ว เพลงอื่นๆ ก็เริ่มทำได้ง่ายขึ้น ในระหว่างที่เราทำเพลงไปได้สักระยะ ก็มีการส่ง Demo ไปให้ฝ่ายละครฟังและลองเปิดระหว่างซ้อม ซึ่งจะมีการแก้ Timing ความสั้นยาวของเพลงแต่ละช่วง ให้สอดคล้องกับการแสดง ทางฝ่ายละครก็ยังคอยส่ง VDO ซ้อมที่อัพเดท รวมถึงบทที่ปรับแก้มาให้เราเป็นระยะ เพื่อให้เราทำงานไปกับละคร บทที่ปรับแก้นั้นไม่ได้เป็นปัญหาในการทำงานครั้งนี้ เพราะมีเพียงการจัดลำดับของฉากใหม่ เพิ่มเติมบทพูดบางอย่างให้ตัวละคร เพื่อให้ละครมีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักของบท

เข้าโรงละครครั้งแรก

โรงละครที่ ABAC

หลังจากนั้นเราก็จะเข้าโรงละครเพื่อไปดูหน้างานว่าเพลงที่เปิดกับการแสดงตัวเป็นๆ แล้วมันให้ผลออกมาเป็นอย่างไร มี Comment จากทีมงานว่าอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาปรับแก้ไขเช่นเคย ซึ่งจะมีการปรับแก้ไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกอย่างจะนิ่ง ทั้งในส่วนการแสดงและในส่วนของเสียง

เนื่องจากละครเรื่องนี้จะต้องไปเล่นที่ต่างประเทศและไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางเสียงไปด้วยเราจึงจัดทำ Workshop (ฟังดูใหญ่โต แต่เปล่าเลย..) เล็กๆ สำหรับคนเปิดเสียง โดยจะพูดถึงเรื่องทางเทคนิคแบบคร่าวๆ เช่น การรับมือเบื้องต้นกับอุปกรณ์ที่จะต้องไปเจอ อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไป การใช้งานโปรแกรมเปิดเสียง เพื่อให้พร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เอง

ขั้นตอนต่อมาก็คือส่วนของการ Mastering โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมเพลงหน้าที่หลักๆ ของการ Mastering คือการดูความต่อเนื่องของเพลงในอัลบั้ม จัดการย่านเสียง ความดังเบาให้ใกล้เคียงหรือไปในทิศทางเดียวกันตามแต่จะถูก Design ไว้ ในงานละครก็เช่นกัน เราจะเน้นไปที่ความต่อเนื่องของความดังเบา เพื่อให้การเปิดเสียงนั้นง่ายและสอดคล้องกับการแสดงที่สุด เช่น ฉากไหนเสียงควรดังสุด ฉากไหนควรเบาสุด

คิวต่างๆ ที่จดเพิ่มหลังจาก Spotting Session (บน), ครูตาลอัดเสียงขลุ่ย (ซ้าย),

แทรคเสียงทุกคิวในโปรแกรม Logic X (ขวา)

ในการทำเพลงประกอบนั้น สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือการช่วยสนับสนุนให้ละครมีมิติมากขึ้น เพลงจะต้องเป็นตัวช่วยในการสร้างอารมณ์ ที่บางครั้งตัวละครไม่จำเป็นต้องพูด หน้าที่หลักๆ ของคนสร้างเสียงหรือ Music Director จำเป็นจะต้องใส่ใจกับเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้น (ในที่นี้ความเงียบก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งด้วย) ในการทำงานและสร้างสรรค์งานทุกอย่าง สิ่งที่ต้องตระหนักถึงเป็นลำดับต้นๆ ก็คือคุณภาพ เพราะในเมื่อเราได้รับโอกาสที่ดี ในการทำงาน เราควรจะใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุด สมกับความไว้วางใจที่รับจากผู้ที่เลือกเรา Lab 5 Soundworks ขอขอบคุณโอกาสดีๆ และงานสนุกๆ ในครั้งนี้ด้วย หวังว่า Blog นี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจงานด้านเสียงสำหรับละครเวทีนะครับ

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page