top of page

Lab 5 Soundworks at WSD2017 | ประสบการณ์ใหม่ๆ ในไต้หวัน

หนีห่าว World Stage Design 2017

หลังจากการซ้อมอย่างหนักหน่วงที่เมืองไทย ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเดินทางไปแสดงผลงานกันแล้ว แต่ก่อนที่จะเดินทางไป Lab 5 Soundworks อยากจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับงาน World Stage Design 2017 กันก่อนก็แล้วกัน

World Stage Design (WSD) เป็นมหกรรมการแสดงผลงานและนิทรรศการงานออกแบบละครจากนักออกแบบทั่วโลก ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี World Stage Design ได้รวบรวมและคัดสรรนักออกแบบในสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบละคร (คณะละคร) นักออกแบบฉาก นักออกแบบเครื่องแต่งกาย นักออกแบบไฟ รวมถึงนักออกแบบเสียง จากทั่วโลกมาร่วมแสดงผลงานด้วย ภายในงานก็มีทั้งการพูดคุย การจัดแสดงนิทรรศการ การแสดง เวิร์คชอป และการแสดงดนตรี ปัจจุบัน Wolrd Stage Design จัดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ เมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมืองคาร์ดิฟฟ์ ประเทศอังกฤษ และล่าสุดที่นครไทเป ประเทศไต้หวัน (ตั้งแต่วันที่ 1 - 9 กรกฎาคม 2560)

Land & Skin ได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงผลงานในวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2560 ทีมงานจึงเลือกที่จะเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เพื่อไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในงาน จริงๆ แล้วเราไม่ได้คิดว่าจะติดสอยห้อยตามทีมงานไปด้วย แต่พออ่านรายละเอียดต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในงานแล้วก็ทำให้เราเปลี่ยนใจและขอติดตามไปไต้หวันด้วย การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่ามากๆ เลยทีเดียว

ก่อนเดินทางเราจัดแจงเตรียมเพลง วิธีการ Sound Check และตำแหน่งในการจัดตั้งลำโพงสำหรับโรงละคร ก่อนหน้านี้ทาง Taipei National University of the Arts (ต่อไปนี้เราจะใช้ชื่อย่อว่า TNUA) ได้ส่งแบบแปลนห้องสำหรับใช้แสดงมาแล้ว เราจึงนำแบบแปลนนี้ไปปรึกษาพี่บอย (ประทีป เจตนากูล) เพื่อดูว่าตำแหน่งลำโพงต่างๆ ของโรงละครเป็นอย่างไร ถ้าลำโพงในตำแหน่งที่เราวางแผนไว้ให้เสียงที่ไม่โอเค จะมีตำแหน่งไหนบ้างที่เราสามารถติดตั้งลำโพงได้อีก อย่างที่บอกไปว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้วางแผนที่จะติดตามไปด้วย เราจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเรื่องเสียงในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่วิธีการเปิดเพลง การใช้อุปกรณ์ช่วยในการเปิดเพลง ระบบเสียงที่โรงละคร Experimental Theatre ใช้ ตำแหน่งลำโพงคนดู หรือแม้กระทั่งลำโพง Monitor สำหรับนักแสดง

สวัสดีไทเป

เราออกเดินทางกันในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เครื่องบินออกเวลา 7.30 โดยประมาณ เราต้องไปถึงสนามบินกันตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เช้ามากกกกก ก่อนเดินทางก็แทบจะไม่ได้นอนเพราะว่าตื่นเต้นและเป็นคนนอนดึก ฮ่าๆๆ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 20 นาที ก็ถึงไต้หวัน ทุกคนรอรถบัสมารับไปที่พักและเอาของไปลงที่โรงละคร รถออกยังไม่ทันไร พายุฝนก็โหมกระหน่ำ รถบัสก็ไม่สามารถเข้าไปถึงที่พักเราได้ เพราะที่พักอยู่ในหลืบถนนเส้นเล็กๆ เราต้องวิ่งเข็นกระเป๋าเข้าที่พักอย่างทุลักทุเล กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของทุกคนเปียกฝนกันหมด ไต้หวันต้อนรับเราได้อย่างหฤโหดจริงๆ

หลังจากที่ทุกคนอาบน้ำแต่งตัว เป่ากระเป๋า ตากเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อไปดูสถานที่ แต่ก่อนจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ที่พักเราอยู่ใกล้กับแยกซินเป่ยโถว (Xinbeitou) ร้านสะดวกซื้อมีอยู่ทุกหัวมุมเมือง เราก็เดินเข้า 7Eleven ไปซื้อน้ำ ซื้ออาหารรองท้องกัน สิ่งสำคัญที่พวกเราวางแผนจะซื้อก็คือบัตรโยโย่วข่า เรียกแบบอินเตอร์ๆ ก็คือบัตร Easy Card บัตรสารพัดประโยชน์ที่ใช้จ่ายเงินได้เกือบทุกที่ในไต้หวันตั้งแต่รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เช่าจักรยาน ซื้อของ หรือแม้แต่ซื้ออาหาร บัตรมีราคา $100 ซึ่งมีลายให้เลือก น่ารักๆ ทั้งนั้น พวกเราชาวแก๊งก็ได้บัตรมาคนละใบ แต่ไม่จบแค่นั้น $100 คือค่าบัตรเฉยๆ ยังไม่มีเงิน เราก็เลยเติมเงินกันไปราวๆ $500 เพื่อใช้สำหรับเดินทาง

การเดินทางด้วยรถไฟที่ไต้หวันค่อนข้างสะดวกสบาย เดินทางง่าย เราเดินทางจากสถานี Xinbeitou (สายสีชมพู) ไปเปลี่ยนสถานีที่ Beitou (สายสีแดง) มุ่งหน้าตรงไปที่สถานี Guandu เพื่องาน WSD 2017 การเดินทางไป TNUA ทำได้ 2 ทางคือเดินไป กับขึ้นรถ Shuttle Bus และเราก็เลือกที่จะเดินไป จากสถานี Guandu ไปมหาวิทยาลัยค่อนข้างไกลพอสมควร มหาวิทยาลัยตั้งอยู่บนภูเขาสูง สามารถมองลงมาเห็นบ้านเมืองของไทเป สวยงามทีเดียว เหมาะกับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะสุดๆ บรรยากาศดีมาก เสียงจักจั่นดั่งอื้ออึงทั่วไปหมด

เย่ !! และแล้วเราก็มาถึงงาน WSD 2017 สักที

เมื่อถึงงานเราก็จับกลุ่มเดินชมงาน หาห้องจัดกิจกรรม กินข้าว ดื่มกาแฟ ชมบรรยากาศมหาวิทยาลัย ตึกต่างๆ มีการจัดนิทรรศการจากผู้ได้รับคัดเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเสื้อผ้า การออกแบบฉาก การออกแบบไฟ ออกแบบ Visual น่าตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว เราอยู่ในห้องจัดนิทรรศการนานพอสมควร สถานที่แบบนี้ค่อนข้างดูดพลังเราอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถอยู่ในนั้นจนลืมเวลาไปเลย มาวันแรกก็เสียเงินให้กับแผ่นซีดีของนักออกแบบเสียงไปเรียบร้อย พี่พึ่งและพี่ฉิงก็เสียเงินให้กับหนังสือออกแบบไปคนละเล่มสองเล่ม สถานที่นี้ช่างถูกใจพวกเรายิ่งนัก

จะว่าไปแล้วพอรู้ว่าจะได้เดินทางมาไต้หวัน เราก็วางแผนอย่างดิบดีเลยล่ะ ว่าเราอยากไปดูพิพิธภัณฑ์อะไร ต้องเดินทางยังไง หาข้อมูลท่องเที่ยวมากมาย แต่ด้วยความน่าสนใจของงาน WSD 2017 ทำให้การไปพิพิธภัณฑ์ของเราต้องถูกตัดออกไปบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะคิดว่ายังไงก็ต้องกลับไปอีกอย่างแน่นอน

ไปพิพิธภัณฑ์กันเถอะ !!

เมื่อคืนพวกเราชาว Xinbeitou ได้พูดคุยกันถึงกิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละคนวางแผนจะทำในไต้หวัน พี่พึ่งกับพี่ฉิงอุทิศตนเพื่อการมาร่วมงาน WSD 2017 อย่างแท้จริง ตารางของพี่ทั้งสองเต็มไปด้วยการดูละคร เข้าเวิร์คชอป ฟัง Talks แทบจะไม่มีเวลาได้ไปเที่ยวไหนเลย ทางด้านพี่นุ้ย Project Director ของเราก็พอมีเวลาว่างบ้าง นอกเหนือจากการดูแลทีมน้องๆ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและมหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนพี่อ๋อ น้องเปี้ยว น้องหยก ก็มีวันว่างพอที่จะร่วมทีมกับเราทีจะไปดูพิพิธภัณฑ์ในวันรุ่งขึ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เนื้อหาภายในงานยังไม่มีอันไหนตรงกับความสนใจของเรา เราเลยใช้โอกาสนี้ในการจัดทริปตะลุยพิพิธภัณฑ์ซะเลย

เริ่มต้นด้วยการนั่งรถไฟไปลงสถานี Yuanshan เพื่อเดินไป Taipei Fine Arts Museum (TFAM) และ Taipei Story House ระหว่างทางเราเดินผ่าน Taipei Expo ลักษณะคล้ายๆ ลานกิจกรรมที่คนทุกวัยมาทำกิจกรรม ตั้งแต่เด็กน้อยที่คุณครูพามาทัศนศึกษา เด็กวัยรุ่นที่มาซ้อมเต้น Cover ไปจนถึงคุณตาคุณยายที่มารำไทเก็ก ที่ TFAM ก็มีการจัดแสดงงานศิลปะมากมายภายในแนวคิด "A Space Adante : Selected Works From The Collection” งานดีมากจริงๆ จากนั้นเราก็ไปต่อที่ Taipei Story House เสียค่าเข้า $50 ในบ้านเล็กๆ นี้ก็มีเรื่องราวสถาปัตยกรรมต่างๆ ในไต้หวันตั้งแต่สมัยแรกๆ จนถึงปัจจุบัน น่ารักดี

ดูเสร็จก็หิวกันพอดี อาหารกลางวันมื้อนี้ขอเป็นเสี่ยวหลงเปา อร่อยๆ เลยเลือกที่จะตรงไปกินติ่นไท่ฟงที่ย่าน Zhongshan พวกเราตัดสินใจลองนั่งรถประจำทางกัน ลองดูซิว่าจะหลงมั้ย และแล้วเราก็ต้องขอบคุณ Google Map ที่พาเรามาถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย หลังจากกินกันชุดใหญ่แล้ว พี่นุ้ยก็ตามมาสมทบกับน้องๆ เพื่อพาน้องหยกและน้องเปี้ยวไปดูงานที่ TNUA ส่วนเรากับพี่อ๋อ ก็เดินต่อไปที่ Museum of Contemporary Art, Taipei หรือที่รู้จักกันในนาม MOCA เสียค่าเข้าชม $50 นิทรรศการที่จัดอยู่เป็นงานแสดงผลงานของศิลปินไต้หวันท่านนึง ผลงานของเค้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นงานประติมากรรมจากดิน ผสมผสานความมินิมอล น่ารักๆ สไตล์ญี่ปุ่น

วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่สนุกมาก การเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ เลย นอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจดีๆ แล้ว ยังทำให้เรามีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไปด้วย

Lab 5 Soundworks มาเยือน WSD 2017 !!!

เอาล่ะ หลังจากที่เราไปเที่ยวดูเมือง ดูพิพิธภัณฑ์กันมาพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมาร่วมงานกันบ้าง ภายในงานมีกิจกรรมมากมายให้เราได้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น Exhibition, OISTAT, Performance, Keynote Speech, Talk and Workshop ซึ่งหัวข้อก็จะอยู่ในขอบเขตของละครทั้งหมด โดยแยกไปตามแขนงต่างๆ ที่มีในละคร เช่น โรงละคร ฉาก แสง เสียง เสื้อผ้า อะไรประมาณนี้ ตอนแรกที่วางแผนจากข้อมูลที่มีในเว็บไซต์ WSD2017 เราก็เลือกที่จะเข้าไปฟังหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพลงและดนตรีในโลกของละคร แต่พอถึงที่โน่นเราก็ได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วเราควรจะลองไปดูหัวข้ออื่นๆ บ้าง ไปดูว่าทั้งโปรดักชั่นละครมีอะไรบ้าง แล้วคนวงในในแต่ละด้านเค้าคุยเรื่องอะไรกัน แม้ว่าจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง (ศัพท์เฉพาะเยอะเหมือนกัน) หรืออาจจะเหนื่อยๆ สับปะหงกบ้าง แต่ก็ได้เปิดโลกอะไรใหม่ๆ เยอะเลย

การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เราสามารถซื้อบัตรเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ผ่านทาง Accupass (เป็นเว็บจองตั๋วออนไลน์) ถ้าเราซื้อบัตร Early Bird คือซื้อก่อนวันงาน จะได้ส่วนลดประมาณ $80 ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เราเลยฝากพี่นุ้ยซื้อให้ 2 งานก็คือ Shadow Tender และ Echo Walk ในราคาอย่างละ $320 ตอนแรกก็ลองซื้อด้วยตัวเองแล้วแหละ แต่เหมือนเค้าไม่รับบัตรเดบิต ก็เลยต้องรบกวนพี่นุ้ย แหะๆ เมื่อถึงวันงาน เราสามารถซื้อบัตรได้เองหน้างานเลย ถ้าเป็นละครอาจจะต้องรอว่ามีคนทิ้งบัตรมั้ย ถ้าเต็มก็อด หรือจะซื้อผ่าน App Accupass ก็ได้แต่ก็ต้องจ่ายราคาเต็ม ราคาก็มีตั้งแต่ $150 สำหรับ Talk/ $400 สำหรับละคร/ $500 สำหรับ Workshop หรืออาจจะสูงกว่านั้นเป็น $1000 เลยก็มี คือเรียกได้ว่าเราหมดเงินไปกับกิจกรรมนี้หลายพันบาทเลยทีเดียว ฮ่าๆๆๆๆๆๆ อันไหนน่าสนใจก็ซื้อบัตรๆๆ ซื้อจนไม่ได้เช็คเงินในกระเป๋ากันเลยล่ะ

Sound/Music Talk and Workshop

เราขอพูดถึงงานสายดนตรีก่อนแล้วกันเนาะ เพราะเป็นเรื่องที่เราเข้าใจและถ่ายทอดออกมาได้มากที่สุด สำหรับส่วนอื่นๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ก็จะเขียนให้อ่านกันคร่าวๆ พอเห็นภาพตาม

งานแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมก็คือ “Sound Design in Asia & The U.S.” โดยคุณ Sunny, Sun Hee Kil (길선희) เป็นการเล่าประวัติการทำงานส่วนตัวของเธอที่เคยทำงานในประเทศเกาหลีและอเมริกา เริ่มต้นด้วยการอธิบายละครลักษณะต่างๆ ของละครพื้นบ้าน-โบราณของเกาหลี ที่เรียกว่า “ละครหน้ากาก - Ttalchum (แทชุม)” “ละครเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณ - Gut (คู้ต)” ละคร Gut นี่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชาวเอเชีย ที่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นละครที่มีการร้องเล่นกับดนตรี ดนตรีก็เป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่เล่นประกอบการแสดง เนื่องจากเทพเจ้ามีหลากหลายองค์ ทำให้การแสดงมีการเปลี่ยนชุดและใช้อุปกรณ์ในการแสดงเยอะ ละครนี้เป็นเหมือนตัวกลางการสื่อสารระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปละคร อิทธิพลจากต่างประเทศก็ส่งผลให้ละครเกาหลีมีการพัฒนาขึ้นไปเป็นละครร้องที่คล้ายกับการร้องโอเปร่า นั่นคือ “ละคร Pansori (Dramatic Singing)” นักแสดงจะร้องและเล่นเป็นหลายตัวละคร คุณซันนี่ ก็อธิบายถึงอิทธิพลจากต่างประเทศที่ทำให้วงการละครเวทีของเกาหลีเปลี่ยนไป มีการผสมวงแบบ Big Band และ Pop ร่วมกับการแสดงที่ทันสมัยขึ้น จนเกิด The First Broadway in Korea นั่นคือเรื่อง 42nd Street ที่มีดนตรีประกอบเป็น Jazz และมีรูปแบบวงเป็น Big Band และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการทำงานสายละครของคุณซันนี่ ในช่วงปี ค.ศ. 2000

หลังจากการทำงานในวงการละครแบบ Mass มานาน คุณซันนี่ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ เพราะทุกอย่างต้องเร่งรีบ ทำให้งานไม่มีมิติ คุณภาพไม่ดี ไม่มีเวลาพัก ทำให้ตัดสินใจเรียนต่อในปี 2006 ที่อเมริกาทางด้าน Sound Design จากการเรียนครั้งนั้นทำให้พบกับวิธีการใหม่ๆ ได้ทำงานกับละครโรงเล็กๆ (Off-Off Broadway) อย่าง “Removal” และ “Kinky Boots”

คุณซันนี่ได้ยกตัวอย่างงานมากมาย และงานนึงที่น่าสนใจก็คือเรื่อง “Take Off” คือเป็นละครที่ให้ความรู้สึกว่าถูกจับตามองโดยกล้องวงจรปิดตลอดเวลา นักแสดงจะอยู่ในห้อง บริเวณเพดานของห้องสี่เหลี่ยมนั้น ก็จะมีกล้องและไมโครโฟนติดอยู่บนรางเหล็กที่สามารถเลื่อนไปมารอบๆ ห้อง ทำให้เสียงนักแสดงที่ได้จะคล้ายๆ กับไมค์กล้องวงจรปิด

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่คุณซันนี่พูดถึงก็คือละครเรื่อง Rashomon หลายๆ คนน่าจะรู้จักบทละครญี่ปุ่นเรื่องนี้ ที่พูดถึงการสอบปากคำของพยานทั้งสามคนเกี่ยวกับการตายของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนจะให้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน ทำให้คนดูต้องกลับมาคิดต่อว่าสรุปแล้วเรื่องมันเป็นยังไงกันแน่ ซึ่งได้มีการนำบทละครนี้มาทำใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยคุณซันนี่ได้ออกแบบเสียงใหม่และเล่นสดเองพร้อมกับการแสดงด้วย เธอเลือกใช้เครื่องดนตรีทองเหลืองง่ายๆ ที่หาได้ตามท้องถิ่น และใช้ไมโครโฟนจับเสียงนั้นและนำมา Processed ด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ ใช้ Kalimba สร้างเป็นทำนองหลักง่ายๆ ในการดำเนินเรื่อง

สำหรับการพูดคุยครั้งนี้ก็น่าสนใจดี ทำให้เราได้เห็นกระบวนการการทำงานของมืออาชีพที่ทำงานสาย Mass ในเกาหลีและงานสาย Art ที่อเมริกา ก็เป็นเหมือนการแชร์ประสบการณ์สนุกๆ แต่เราก็มึนๆ นิดหน่อย เพราะสำเนียงเป็นเกาหลีแอบฟังยากพอสมควร ฮ่าๆๆๆ จริงๆ ก็แอบคิดว่าจะพูดถึง Sound Design ในเอเชียทั้งหมด (ตามหัวข้อที่เขียนไว้) แต่คุยไปคุยมากลายเป็นแค่เกาหลีกับอเมริกา ผิดคาดไปหน่อย แต่ก็ได้ความรู้ดีๆ ไม่น้อย แหะๆ

มาถึงงานที่สองกันบ้าง หัวข้อในการพูดคุยวันนี้คือ “Relationship between Sound Design & Dance” โดยคุณ Yenting Hsu หัวข้อนี้น่าสนใจมากๆ ตรงกับความสนใจสุดๆ เพราะเราก็เพิ่งเริ่มทำดนตรีสำหรับ Movement จึงอยากเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากมืออาชีพ คุณ Yenting เล่าวิธีคิดและวิธีการทำงานได้น่าฟังมากๆ เริ่มจากการแนะนำตัวด้วยวิธีการทำงาน เธอทำงานสาย Soundscape และการบันทึกเสียงแบบ Field Recording (การบันทึกเสียงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว) เพื่อใช้ในการทำงาน หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นเสียงจาก Field Recording ?? เพราะเสียงจากสิ่งรอบๆ ตัวเรามี Character ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เสียงที่เราบันทึกมามีการเคลื่อนที่และไม่สามารถคาดเดาได้ อีกทั้งยังสามารถเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจ เสียงพวกนี้มีเนื้อเสียง (Texture) ที่ทับซ้อนกันมากมาย เวลานำเสียงนั้นๆ มา Processed ก็จะได้เสียงที่มีรายละเอียดที่คาดไม่ถึง จากนั้นเธอได้อธิบาย Function ของเสียงและการเต้นไว้คร่าวๆ ว่า “เสียง” ต้องทำงานร่วมกับ “ความเงียบ” และ “จินตนาการ” ความเงียบทำให้เราได้ยินเสียงนักเต้น-นักแสดงมากขึ้น ความกลมกล่อมของการแสดงก็คือการมี Space ให้กับทุกองค์ประกอบของการแสดงไม่ว่าจะเป็นคนดู แสง สี เสียง และฉาก องค์ประกอบเหล่านี้ที่จะเป็นเบาะแสที่ซ่อนอยู่ในการแสดงของเรา

ผลงานที่น่าสนใจมากๆ ที่คุณ Yenting เอามานำเสนอก็คือ They Dig a Hole Under Their Eyes (Hsiao-tau Tien, 2014) และ What Are You Looking For (Kuei-ru Tung, 2015) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสะท้อนชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถหาข้อมูลทางอินเตอร์เนทมาให้ทุกคนดูได้จริงๆ

คุณ Yenting อธิบายวิธีการทำงานและนำเสนองานของตัวเองออกมาได้น่าสนใจทีเดียว ตลอดระยะเวลาการพูดคุย เธอได้ยกตัวอย่างงานดีๆ ให้เราได้ดู ได้ฟัง มากกว่าการเล่าแต่เรื่องของตัวเองอย่างเดียว ทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นกับงานของเธอได้ตลอด 2 ชั่วโมงที่พูดคุยกัน

“OISTAT SDG Sound Presentation|Spatial Recordings for Earphones” โดยคุณ Kelvin Lin & Zhou Ping งานนี้เค้าแนะนำให้เอาหูฟังของตัวเองไปด้วย เพื่อฟังเสียงวิธีการบันทึกเสียงแบบ SST หรือ (Spatial Sound Technology) จริงๆ แล้ว Talk นี้มีความยากมากในการที่จะเข้าใจได้ เนื่องจากศัพท์และเนื้อหาที่ใช้ มุ่งเน้นไปที่เทคนิคและเทคโนโลยีด้านการบันทึกเสียง (บวกกับภาษาอังกฤษสำเนียงจีนที่ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรด้วย) เท่าที่จับใจความได้คือคุณ Kelvin Lin & Zhou Ping เป็นชาวจีน (ปักกิ่ง) ผู้พัฒนาวิธีการบันทึกเสียงแบบ SST ร่วมกับทีมในไต้หวัน วิธีการบันทึกเสียงแบบนี้ให้เสียงที่เหมือนจริงมากๆ โดยทั่วไปเราจะคุ้นชินกับการฟังเพลงแบบ Stereo ได้มิติซ้ายขวา ลึก ตื้น แต่การฟังเสียงด้วยเทคโนโลยี SST จะทำให้เราได้ยินเสียงเหมือนที่เราได้ยินจากหูจริงๆ แม้ว่ากระทั่งเวลาใส่หูฟัง (งงมั้ย??) คุณ Kevin เลยให้เราเอาหูฟังต่อกับ Amp หูฟังที่เตรียมไว้ให้ และลองฟังเสียงที่บันทึกจากไมโครโฟนแบบพิเศษที่พัฒนาขึ้น ตัวอย่างเสียงที่เค้าให้เราฟังเป็นเสียงสายฝนที่ตกโปรยปราย เราได้ยินเสียงที่ตกกระทบร่มจากด้านบน ได้ยินเสียงคนเดินผ่านจากด้านหลัง ได้ยินเสียงรถที่วิ่งไปมาบนถนนที่เปียกปอน เสียงเกิดขึ้นตามแหล่งกำเนิดเสียงจริงๆ มันเหมือนจริงมาก

คุณ Kelvin Lin และคุณ Zhou Ping เล่าว่าเค้าพัฒนามาหลายครั้งกว่าจะได้เสียงที่เหมือนจริงมากขนาดนี้ และยังใช้เทคโนโลยีนี้ในการบันทึกเสียงการแสดงดนตรีใน Auditorium ด้วย เยี่ยมไปเลยล่ะ แม้ว่าต่างประเทศจะมีผู้พัฒนาการบันทึกเสียงประเภทนี้อยู่นานแล้ว แต่นี่ก็ถือว่าเป็นอีกกลุ่มผู้พัฒนาที่น่าจับตามองทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้ฟังจนจบ เพราะความพร้อมของร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในงานนี้เลยล่ะ

จริงๆ แล้ว ยังมีงานอีกหลายงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sound Kitchen ที่เป็นการแสดงดนตรีทดลองจากบรรดาศิลปินและนักออกแบบเสียงหลายท่าน แต่แอบเสียดายที่ไม่ได้ไปดู เพราะเวลาชนกันกับกิจกรรมอื่นๆ ตารางของเราแน่นมาก เหมือนไปเรียนหนังสือเลย คือเสร็จงานจากตึกนี้ก็วิ่งไปตึกนั้น รีบทานอาหารกลางวันแล้วก็วิ่งไปตึกโน้น แป๊บๆ ก็หมดวัน เรียกได้ว่าเหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกัน ฮ่าๆๆๆ

ข้าวโรงอาหาร

สนุกสนานกับ Lecture และ Workshop

นอกจากสายดนตรีแล้ว ก็มีโอกาสติดสอยห้อยตามพี่พึ่งไปนั่ง Lecture ด้วยถึง 2 งานด้วยกัน ได้แก่ Lecture | Reconnect Series Event #2 โดย คุณ Fereshteh Rostampour, Matt Kizer, Tien Ling, Viśnja žugić,Miljana Zeković พี่พึ่งมาฟัง Lecture นี้ก็เพราะตอนกลางวันได้ไปเวิร์คชอปกันทีมนี้มา เค้าก็เลยจัดคุยกันหลังการเวิร์คชอปนิดหน่อย เราก็เข้าไปฟังด้วยว่าเค้าทำอะไรกัน ศิลปินแต่ละท่านก็แนะนำตัวเองพร้อมกับผลงานที่เคยทำ งานหลากหลายดีล่ะ อาจจะไม่ได้เข้าใจอะไรมากแต่เราก็ค่อยๆ Reconnect ทุกอย่างจากที่ศิลปินพูดกับงานที่นำเสนอได้ประมาณนึง แปลกใหม่ดีเหมือนกัน

ส่วนงานต่อมาที่ตามพี่พึ่งไปก็คือ Lecture | Heritage Theatre Machinery: Unexpected possibilities in Contemporary Productions โดย คุณ Jerôme Maeckelbergh งานนี้ก็มีน้องเต๋า น้องเปี้ยว ติดตามมาด้วย เสียค่าเข้าเรียน $150 ก็โอเคนะ เป็นการเล่าถึงประวัติศาสตรโรงละครในยุโรปว่ามีกลไกการทำงานยังไงบ้าง ตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว เพราะโรงละครที่ยุโรปอลังการงานสร้างสุดๆ กลไกข้างในถูกออกแบบมาอย่างดี ตอบโจทย์การทำงานละครเวทีระดับโลก หลังจากเล่าประวัติศาสตร์กันแล้ว ก็พูดถึงการใช้กลไกต่างๆ ของโรงละครมาทำละครอย่างไรในปัจจุบัน คุณ Jerôme ถือเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรงละครของโลกที่สำคัญคนนึง

จริงๆ วันนี้มีแผนจะเข้าเมืองไป Huashan 1914 Creative Park ระหว่างที่พี่พึ่งกำลังจะเรียก Uber พี่ฉิงก็มาเรียกพอดี พี่ฉิงอยู่ระหว่างการบันทึกเสียงแบบ Field Recording ในเวิร์คชอปอันนึงอยู่ น่าสนใจมากกกกก เราก็เลยลังเลว่าจะไปในเมืองหรืออยู่เวิร์คชอปดี คิดไปคิดมาก็เลยวิ่งตามพี่ฉิงไปอัดเสียงแล้วก็บอกพนักงานว่าจะจ่ายเงินให้หลังเวิร์คชอปเสร็จนะ ก็เลยเสียค่าเข้างานไปอีก $500 รู้สึกคุ้มค่ามากจริงๆ ที่ตัดสินใจมาเวิร์คชอป นอกจากจะได้เพื่อนๆ จากทั้งเอเชียและยุโรปแล้ว ยังได้ทำไฟด้วย เวิร์คชอปนี้มีชื่อว่า The Performance of Materiality โดย คุณ Gregor Glogowski, Alisa Hecke และ Benjamin Hoesch

เรามาอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง เค้าแบ่งทีมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ฝั่งเสียงและฝั่งแสง พี่ฉิงเลือกที่จะมาฝั่งเสียงเพราะงานหลักคือแสงอยู่แล้ว ส่วนเราก็ไปง่วนอยู่กับเสียงแป๊บนึง เพื่อเรียนรู้การทำงานของคุณ Gregor เค้านำเสียงที่ทุกคนไปบันทึก มาทำในโปรแกรม Ableton Live 9 แล้วก็เอาเสียงมา Processed เพื่อใช้ในการแสดงที่จะเกิดขึ้นในตอนท้ายของการเวิร์คชอป ส่วนฝั่งแสงทุกคนก็ง่วนอยู่กับการทดลองว่าจะจัดไฟยังไง จะใช้วิธีเปิดแบบไหน จะจัดวาง Props ยังไง พอทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็ให้ทุกคนซ้อมและเตรียมแสดงงานที่ช่วยกันสร้างสรรค์ในช่วงท้ายของการเวิร์คชอป หลังจากการเล่นสนุกกับเสียง พี่ฉิงก็แนะนำให้ไปลองเล่นกับแสงดู เพราะเราอาจจะไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยๆ ซึ่งพอลองทำแล้วสนุกมาก ในการแสดงเราต้องฟังว่าฝั่งเสียงจะเปิดเสียงแบบไหน แล้วเราควรจะใช้ไฟอะไรเพื่อให้สอดคล้องกันกับเสียงนั้นๆ หรือเราเล่นแสงแบบนี้ คนเปิดเสียงจะต้องเลือกเสียงอะไร การแสดงดำเนินไปกว่า 7 นาที สิ่งทียากที่สุดก็คือ เราจะจบการแสดงนี้อย่างไร ฮ่าๆๆๆๆๆ

การแสดงดีๆ ที่ World Stage Design 2017

สำหรับการแสดงเราอาจจะไม่เล่าอะไรมาก เพราะมันจะเป็นการ Spoiled เนาะ เอาเป็นว่าจะลิสชื่อละครที่มีโอกาสได้ดูไว้ให้ เผื่อใครสนใจจะได้ลองเสิร์ชหาดูในอินเตอร์เนทว่ามีรายละเอียดยังไงบ้าง อิอิ

เรื่องแรกที่ได้ดูคือ Teatime with Me, myself and I โดย Very Theatre เป็นการแสดงที่มีการ Interact กับสื่อต่างๆ โดยเฉพาะกล้องจากโทรศัพท์และ Tablet ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เสียดายที่ไม่ได้ดูตั้งแต่แรก เพราะวิ่งไปไม่ทัน แต่ก็ประทับใจมากๆ เลย อ้อ แล้วความพิเศษอีกอย่างนึงของการแสดงนี้ก็คือ ในแต่ละรอบจะมีการแสดงของคนไต้หวันและคนเกาหลีสลับกันไป ถ้าใครได้ดูสองรอบคงจะน่าสนใจไม่น้อย

เรื่องต่อมาที่อยากดูก็คือ Ghosts of Shakespere โดย Moscow Theatre The Shchepkin House and Scenography Faculty of The Russian Institute for Theatre Arts/GITIS ตอนแรกวิ่งไปดูรอบ 16.00 โดยที่ไม่มีบัตรหวังว่าจะซื้อบัตรหน้างาน แต่ว่ามันเต็มจริงๆ ก็เลยอด ต้องรอบัตรอีกทีรอบ 19.30 พอถึงเวลาก็กลับมาดูอีกที โชคดีที่บัตรยังไม่เต็ม เลยได้ไปดู เป็นการแสดงที่ค่อนข้าง Minimal จัดแสดงไม่เยอะ ใช้ไฟฉายในการ Follow ตัวละคร มีหน้ากากเปเปอร์มาเช่ผสมอยู่ในการแสดงด้วย การแสดงแอบหลอนนิดๆ ใช้เพลงซ้ำๆ ทั้งเรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมันต้องมีความ Cliché แบบ Shakespere หรือเปล่า ให้ความรู้สึกแปลกดี ถามว่าดูรู้เรื่องมั้ย?? ฮ่าๆๆๆๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรนะ อาจเป็นเพราะภาษารัสเซียด้วยล่ะ ก็ถือว่าเป็นการดูโปรดักชั่นดีๆ จากฝั่งรัสเซียก็แล้วกัน

มาถึงเรื่องที่ชอบที่สุดในการมาครั้งนี้กัน เราขอยกให้ Shadow Tender โดย Natalya Kolosowsky ร่วมกับ คุณ Aurelia Cohen, Sophia Constance, Magdalena Kaczmarkska และ Maria Thomas เป็นละคร Movement ไม่มีบทพูดเลย ไม่มีฉากใดๆ มีแต่การเล่นกับไฟ หน้ากาก และเสียง เป็นละคร Minimal ที่ Impact มากๆ เล่าเรื่องของเงาที่แสดงถึงความกลัวภายในจิตใจของมนุษย์ ถ้ามีแสดงที่ไหน แนะนำให้ไปดูเลย ดนตรีประกอบดีมากๆ ช่วยเล่าเรื่องและแสดงอารมณ์ได้ดี ทำให้เราอยู่กับเรื่องตลอดเวลาจนจบโชว์ เล่นกับ Noise และย่านความถี่ สวยงามจริงๆ ดีใจที่มี Q&A ในตอนท้าย ทำให้เราได้เห็นวิธีคิด วิธีการทำงานและพัฒนางานของทีมนี้ ประทับใจสุดๆ เลย ลองไปหาเพลงของ Sound Designer คนนี้ดูนะ Adam Cooper-Terán

อันนี้นี่ถือว่าเป็นอะไรที่เด็ดพอสมควร ไม่รู้ว่าจะจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในการแสดงหรืออะไรดี สำหรับ Echo Walk โดย คุณ Lorena Hernàndez และ Jérémie Kalil ตอนแรกที่ซื้อบัตร คิดว่าคงจะคล้ายกับงาน Electrical Walks ของ Christina Kubisch ที่ให้ใส่หูฟังแล้วเดินตามแผนที่ในเมืองที่กำหนด เพื่อฟังเสียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตามเมืองต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ งานนี้ไม่เหมือนกับที่คิดไว้เลย มันแปลกและให้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับเรามากๆ

มาถึงที่นัดหมายตอน 11.00 มีเพื่อนร่วมทริปเป็นพี่นุ้ย แต่ทางงานบอกว่าจะแบ่งกลุ่มเป็น กลุ่ม A และ B ใครจะอยู่กลุ่มไหน เราเลยเลือกที่จะแยกกัน เพื่อจะได้มาคุยกันว่า แต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร กลุ่มที่เราได้คือ Jérémie (ขอเรียกว่าเจเรมี่ก็แล้วกันเนาะ) กลุ่มเรามีสมาชิกราวๆ 6-7 คน เจเรมี่เดินนำทุกคนไปบริเวณตึก School of Theatre Arts เจเรมี่เริ่มเล่าประวัติตัวเองเมื่อสมัยอายุ 16 เล่าว่า เคยมา Theatre Summer Camp ที่นี่ ตกหลุมรักผู้หญิงชื่อ ฟาเบียน และเริ่มเล่าถึงความรักในครั้งนั้นพร้อมกับพาเดินไปดูห้องที่เคยเรียน สถานที่ที่เคยจีบกัน พาไปดูกำแพงที่มีตัวอักษร J&F ที่เขียนไว้เมื่อตอนนั้น !!! พอมาถึงจุดนี้ เราเริ่มรู้สึกว่าเค้าแต่งเรื่องขึ้นหรือเปล่า?? ทำให้การเล่าเรื่องต่อจากนั้นทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่เชื่อ รู้สึกว่านี่เราเสียเงินมาฟังเค้าแต่งเรื่องหรอ?? เจเรมี่เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนถึงจุดจบ เค้ากับฟาเบียนเลิกกันเพราะฟาเบียนไปคบกับเพื่อนสนิทของเค้า และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาฟาเบียนก็แอดเฟสบุคมา เธอเปลี่ยนไปมาก เป็นนักกล้ามไปซะงั้น และทุกอย่างก็จบ... มีหลายๆ สิ่งติดค้างในใจเรามากมาย เจเรมี่พูดขึ้นว่า มีใครอยากถามอะไรเค้ามั้ย เรื่องเค้าจบลงเท่านี้ล่ะ ก็มีชาวฝรั่งเศสคนนึงถามด้วยความสงสัยว่า เค้ารู้สึกว่าเรื่องที่เจเรมี่เล่าไม่ใช่เรื่องจริง รอยเขียนบนกำแพงนั้นดูใหม่เกินไป สรุปว่าเรื่องนี้มันยังไงกันแน่?? เจเรมี่ให้คำตอบที่น่าสนใจมากๆ เลยคือ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ต่อไปนี้ทุกคนก็มีประสบการณ์ร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้เรียบร้อยแล้ว ทุกครั้งที่ทุกคนมาที่นี่ ก็จะนึกถึงเรื่องที่เค้าเพิ่งเล่าไป และพวกเราก็จะถ่ายทอดเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้กับคนอื่นที่มาที่นี่ด้วยเช่นกัน สำหรับเค้าเรื่องฟาเบียนเป็นเรื่องจริงนะ... ขุ่นพระ ! มันล้ำลึกมากเลย ตอนนี้ทุกคนที่อ่านก็คงได้รับประสบการณ์นี้ผ่านตัวหนังสือไปพร้อมๆ กันกับเราแล้ว จริงๆ มนุษย์ส่งผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตร่วมกันตลอดเวลา...มันเป็นปรัชญา วิธีคิด วิธีนำเสนอเรื่องราวที่เจ๋งมากๆ เลย เป็น 40 นาทีที่ประทับใจที่สุด

ส่วนฝั่งพี่นุ้ยก็เป็นสาวชาวโคลัมเบียที่มาที่แคมป์เหมือนกัน วันที่ต้องแสดงผลงานเป็นวันที่เธอต้องกลับบ้านไปเพราะญาติเสีย ทำให้เธอไม่ได้แสดงผลงานที่นี่ แต่วันนี้ทุกคนจะได้เห็นการแสดงของเธอ เธอก็เริ่มเต้นอยู่ในสวนสีเขียวที่รายล้อมไปด้วยเสียงจักจั่น ในท้ายที่สุดแล้วผลงานที่ไม่ได้แสดงในวันนั้นก็ถูกแสดงแล้วในวันนี้..... แม้ว่าเรื่องของทั้งสองคนจะต่างกัน แต่มันทำให้เราได้ประสบการณ์ดีๆ ของพวกเค้า ปลื้มมมมมม

อ่าห์ มาถึงการแสดงสุดท้ายกันแล้ว กับ Corpus โดย Chris Ziegler, Unita GayGaliluyo และ Hugo Paquete จริงๆ เราได้มางานนี้ก็เพราะว่าตอนเวิร์คชอปเรื่อง The Performance of Materiality นี่ล่ะ เราชวนคุณ Chris ไปดู Land & Skin เค้าก็เลยให้บัตร VIP เราเพื่อไปดูงานเค้า ต้องขอบคุณจริงๆ ฮะ งานแสดงของเค้าเน้นไปที่การใช้อุปกรณ์ดิจิทัล (iPod, Kinect และอื่นๆ) ร่วมกับ Movement และ Generate เสียงผ่านการเคลื่อนไหวของ Performer ด้วยโปรแกรม Max msp เป็นงานที่รวบรวมเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้คุ้มค่ามากจริงๆ

Land & Skin is ready !

หลังจากที่เราแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่งานไปแล้ว ตอนนี้เรากลับมาดูวิธีการทำงานในโรงละครกันดีกว่า

หลังจากที่สนุกสนานกับการเวิร์คชอปมาสองสามวัน เราก็เริ่มที่จะ Tune in ทุกคนด้วยการกลับมาซ้อมละคร เราซ้อมกันก่อนวันแสดง 3 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 13.00 ที่ห้อง T2101 โดยเริ่มจากการวอร์มอัพ ซ้อมเจาะทีละจุดที่มีปัญหา และรันทรูทั้งเรื่อง พร้อมกับประชุมทีมงานกันว่าเราจะ Set Up ละครของเราอย่างไรในโรงละคร Experimental Theatre ยิ่งถึงวันแสดง ก็ยิ่งตื่นเต้น

วันที่ 8 กรกฎาคม พวกเรามาถึงโรงละครกันราวๆ 8.00 เพื่อเตรียมตัว ทั้งไหว้เจ้าที่เจ้าทาง นักแสดงเตรียมตัว แต่งหน้า เพราะเรามีเวลาติดตั้งงานกันตั้งแต่ 9.00 ซึ่งการแสดงจะเริ่มตอน 19.30 เวลา Setup น้อยมากกกก ฉะนั้นเราต้องนัดประชุมเพื่อวางแผนการติดตั้งกัน เพื่อความรวดเร็ว... แต่ แต่ แต่ แผนที่เราเตรียมมาไม่เป็นไปตามนั้น เพราะวิธีการทำงานของชาวไต้หวันไม่เหมือนกับที่คิดไว้ เราวางแผนกันว่า เราจะติดตั้งเชือกและไฟพร้อมๆ กัน และระหว่างนั้นก็จะเช็คเสียงด้วย ทางฝั่งไต้หวันเค้าก็คิดของเค้ามาแล้ว โดยการติดตั้งไปทีละอย่าง เริ่มจากเชือก ไฟ และเสียง ก็เลยต้องเปลี่ยนแผนตามเค้าไปโดยปริยาย การติดตั้งก็เลยล่าช้ากว่าที่คิดไว้ แต่ด้วยระบบโรงละครที่ดี ทำให้ทำงานง่ายกว่าที่คิดไว้

ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขะมักเขม้น ฝ่ายเสียงก็กังวลมาก เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่มาแถมยังให้เช็คเสียงทีหลังสุดอีก เมื่อเจ้าหน้าที่มา เราก็รีบเช็คเสียงทันที พอทดลองต่อสายแล้วเสียงดันออกไม่เหมือนที่เราทำไว้ ตกใจมากว่าเสียที่อะไร ปรากฏว่าเสียที่สายในห้อง Control ซึ่งไม่มีผลกับลำโพงใหญ่ อ่าห์...แล้วไป ระบบลำโพงไม่เหมือนที่ออกแบบไว้กับพี่บอย แต่เมื่อลองระบบของโรงละครเค้าแล้วมันโอเค ลำโพลงที่นั่นเป็น PA ขนาดใหญ่ ให้เสียงทรงพลังดี สะใจ ส่วนลำโพง Monitor สำหรับนักแสดงก็โอเค ถือว่าไม่มีปัญหา การเช็คเสียงผ่านไปได้รวดเร็วกว่าที่คิดไว้ สบายใจละ

ทีมงานทุกคนก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปจนวินาทีสุดท้าย โชคดีที่ยังพอมีเวลาเหลือให้รันทรูรอบสุดท้ายก่อนแสดง เมื่อถึงเวลาแสดงจริง คนดูเข้ามามากกว่าที่คาดไว้ ส่วนมากเป็นชาวจีน มีฝรั่งบ้างประปราย เป็นปลื้มสุดๆ ไปเลยล่ะ คิดว่าทุกคนคงจะหายเหนื่อยกันในวันแรก

ส่วนวันสุดท้ายของการแสดง เราเริ่มกันตอน 11.00 โรงละครเปิดตอน 9.00 เหมือนเดิม นักแสดงทุกคนก็เลยต้องแต่งหน้าออกมาจากที่พัก เพราะเวลาในโรงละครน้อยมาก ผู้คนที่มาชมในวันนี้ก็มีจำนวนพอๆ กันกับเมื่อวานและส่วนมากก็เป็นคนจีนอีกเช่นเคย การแสดงผ่านไปอย่างราบรื่น และไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นการแสดงได้จบลงแล้ว หลังจากการแสดงเสร็จ พวกเราก็ได้ทำการ Strike (รื้อของ) กันอย่างรวดเร็วและเพื่อให้เสร็จทันเวลา เราใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องลาโรงละครนี้ไปจริงๆ

ไว้เจอกันใหม่นะ

การไปไต้หวันครั้งนี้ ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุ้มค่ากับ Lab 5 Soundworks มากๆ ทั้งการเรียนรู้ เปิดโลกการแสดงใหม่ๆ ได้มิตรภาพดีๆ และที่สำคัญคือความทรงจำที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ขอบคุณพี่ฉิงที่ทำให้น้องได้รู้จักกับพี่นุ้ย ขอบคุณพี่นุ้ยที่เลือกเรามาร่วมงาน ขอบคุณพี่พึ่ง พี่อ๋อ ที่ดูแลเป็นอย่างดี ขอบคุณน้องๆ ทุกคน ขอบคุณโอกาสและทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น มีความสุขสุดๆ ไปเลย

สุดท้ายเราขอแชร์ประสบการณ์ดีๆ ครั้งนี้ไว้ใน Blog ของเรา เพื่อให้ทุกคนที่อ่านได้กัน อาจจะยาวไปบ้าง ถ้าเหนื่อยก็เก็บไว้อ่านวันหลังได้นะ ฮ่าๆๆ ไว้จะเราจะมาเขียน Blog ใหม่ ขอบคุณที่ติดตามกันมาโดยตลอด สวัสดีฮะ

Special Thanks

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง : พี่บอย

พี่ๆ น้องๆ ทีม Designers : พี่นุ้ย พี่ฉิง พี่พึ่ง พี่อ๋อ น้องโน้ต น้องเจ

น้องๆ ABAC : น้องหยก น้องเอม น้องน้ำหวาน น้องเปี้ยว น้องเจนนี่ น้องนิก น้องป่าน น้องอู๋

น้องๆ มหาวิทยาลัยบูรพา : น้องเงาะ น้องเต๋า น้องโฟล์ค

มิตรภาพดีๆ จากไต้หวัน

เพิ่มเติม

World Stage Design 2017 | http://wsd2017.com

OISTAT | http://www.oistat.org

Friend's Laboratory | https://www.facebook.com/FriendsLaboratoryTH/

Sun Hee Kil | https://tsdca.org/2016/03/interview-sun-hee-kil/

Yenting Hsu | https://soundcloud.com/yenting-hsu

The Performance of Materiality : Filmmerskotom| https://www.youtube.com/watch?v=9bfIu9vvcKA

Teatime with Me, myself and I | https://www.youtube.com/watch?v=Iy7nJ2dWmi8

Ghosts of Shakespere | https://www.youtube.com/watch?v=-D2NCYR2t-s

Shadow Tender | https://www.facebook.com/shadowtender/ , https://www.youtube.com/watch?v=kDLWOaP-43A

Adam Cooper-Terán | https://adamcooperteran.bandcamp.com

Echo Walk | http://www.studio-loka.com/echo-walk/

Corpus | http://www.wsd2017.com/scenofest/detail/?pid=433

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page