top of page

กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ใครทำอะไร (2)


3 ตำแหน่งที่กล่าวถึงในตอนที่แล้วของ "กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ใครทำอะไร 1" ถือเป็นหัวใจสำคัญที่กำหนด Style และ Taste ของดนตรีประกอบในงานนั้นๆ เลย สำหรับ Blog นี้ Lab 5 Soundworks จะพามาทำความรู้จักกับต่ำแหน่งอื่นๆ กันต่อดีกว่า

Programmer (Sequencing) - นักเขียนโปรแกรมดนตรี

นักเขียนโปรแกรมในที่นี้ ไม่ใช่คนคิดค้นโปรแกรมหรือนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างที่เราคิดไว้นะ แต่หมายถึงคนที่คอยใช้โปรแกรมดนตรีในการช่วยให้งานนั้นๆ ลื่นไหล มีหน้าที่ทำให้โน้ตเพลงที่คนแต่งเพลงเขียนไว้ในกระดาษ (หรือโปรแกรมเขียนเพลง) กลายมาเป็นเพลงที่สามารถฟังได้ รวมถึงการสังเคราะห์เสียงต่างๆ ที่ต้องใช้ในภาพยนตร์ด้วย

ในบางครั้งก่อนมีการบันทึกเสียงจริง ผู้กำกับหรือคนแต่งเพลงอยากได้ยินเสียงเพลงทั้งหมดโดยภาพรวม นักเขียนโปรแกรมดนตรีก็ต้องทำเพลงผ่านโปรแกรมมาให้ฟังเป็นตัวอย่างก่อน ซึ่งถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างวงออร์เคสตร้าทั้งวงมาเล่นให้ฟังก่อน การที่ได้ยินเสียงก่อนการบันทึกเสียงจริงก็ช่วยให้เราสามารถตรวจเช็คความถูกต้องก่อนนำไปบันทึกเสียงจริง

Copyist (Music Preparation) - ผู้คัดลอกต้นฉบับ

หลังจากที่ Orchestrator เรียบเรียงเครื่องดนตรีเสร็จแล้ว โน้ตเพลงทั้งหมดจะถูกส่งต่อมาที่ผู้คัดลอกต้นฉบับ ซึ่งมีหน้าที่พิมพ์โน้ตและแจกแจงโน้ตต่างๆ ให้แต่ละเครื่องดนตรี เพื่อส่งต่อไปให้นักดนตรีในการซ้อมและบันทึกเสียง ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการบันทึกโน้ต (Notation) ในหลากหลายรูปแบบ มีความแม่นยำในเรื่องทฤษฎีดนตรี เข้าใจการเปลี่ยนระดับเสียงของเครื่องดนตรี (Transposition) รวมถึงต้องเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบในการทำงานอย่างมากเลยทีเดียว

Film Conductor - ผู้ควบคุมวง (วาทยากร)

หน้าที่ก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า เป็นผู้ควบคุมวง โดยจะต้องเตรียมวงออร์เคสตร้าหรือวงดนตรีที่ดีเพื่อให้ได้การบันทึกเสียงที่ดีที่สุด รวมถึงการเตรียมนักดนตรีสำหรับซ้อมและการเป็นวาทยากรในวงด้วย ผู้ควบคุมวงจะต้องมีความรู้ความสามารถในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องเครื่องดนตรีในระดับดีมาก การอ่านโน้ตที่คล่องแคล่ว สามารถเข้ากับคนได้ดี มีความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน อย่างคนแต่งเพลง นักดนตรี คนตัดต่อดนตรี นักเรียบเรียงดนตรี เป็นต้น

Music Editor - คนตัดต่อดนตรี

หลักๆ แล้วคนตัดต่อดนตรีถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ เพราะคนตัดต่อดนตรีจะแทรกตัวอยู่ในทุกๆ ขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่จดบันทึกสิ่งที่ผู้กำกับและคนแต่งเพลงพูดคุยกันอย่างละเอียดในขั้นตอน Spotting Session ต้องรู้ว่าคิวไหนเป็นอย่างไร เพลงตรงไหน เข้า-ออกอย่างไร ดูว่าในแต่ละคิว มีความยาวเท่าไร อีกทั้งยังต้องตัดต่อเสียงดนตรีให้ตรงกับภาพ ในกรณีที่ภาพมีการตัดต่อในขั้นตอนที่ไม่สามารถจะกลับไปแก้ไขเพลงประกอบที่ทำเสร็จแล้วได้ คนตัดต่อดนตรีจำเป็นจำต้องมีไหวพริบและมีความรู้ความเข้าใจในดนตรีเป็นอย่างดี เช่น ต้องรู้ว่าการตัดต่อดนตรีในฉากนั้นๆ จะไม่ทำให้ภาพรวมของภาพยนตร์ติดขัด เพลงที่ต้องตัดต่อจะต้องเพิ่มหรือลดลงกี่ห้องเพลง เพื่อให้เข้ากับภาพที่ถูกตัดต่อใหม่ เป็นต้น หน้าที่นี้เปรียบเหมือนมือขวาคนสำคัญของคนแต่งเพลงเลยทีเดียว

Music Supervisor (Theme Specialist: TV/Film) - ผู้ควบคุมดนตรี

ผู้ควบคุมดนตรีมีหน้าที่ดูแลเรื่องดนตรีทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาพยนตร์ เช่น การดูแลเรื่องลิขสิทธ์ิของเพลงป๊อบที่ถูกนำมาใช้เป็นเพลงหลักของเนื้อเรื่องหรือเพลงประกอบฉากที่อยู่ในภาพยนตร์ (Source Music) อย่างฉากที่พระเอกนางเอกเจอกันในร้านอาหารและมีเพลงคลอเป็นพื้นหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ควบคุมดนตรีก็ยังมีหน้าที่เลือกเพลงประกอบต่างๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องหรือสถานการณ์ในภาพยนตร์ ให้คำปรึกษาทางดนตรี รวมถึงว่าจ้างคนทำเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วย

Contractor - ผู้ทำสัญญา

หน้าที่ก็ตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นผู้ทำสัญญา หน้าที่หลักก็คือทำสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างนักดนตรี เขียนสัญญาจ้าง จัดสรรงบประมาณในการจ้างงานทั้งหมดในโปรดักชั่น

นอกจากฝ่ายดนตรีแล้วก็ยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสียงอีกมากมายหลายตำแหน่งเลยด้วย เช่น Sound Designer, ADR Editor, Dialogue Editor, Sound Effects Editor, Sound Recordist, Foley Artist เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะนำมาอธิบายให้อ่านกันในครั้งต่อๆ ไป

เวลาภาพยนตร์จบตำแหน่งและรายชื่อของฝ่ายต่างๆ ก็จะวิ่งขึ้นใน end credits จะเห็นได้ว่าในโปรดักชั่นหนึ่งๆ ของการทำภาพยนตร์เรื่องนึงนั้นใช้คนมหาศาลมาก แต่นั่นก็ถือเป็นสิ่งท่ีคุ้มค่ามาก เมื่อภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบและประสบความสำเร็จ

อ้างอิงจาก

  • Lalo Schifrin: Music Composition for Film and Television

  • https://www.berklee.edu/careers-film-scoring

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page