top of page

กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ทำอย่างไร (1)


หลังจากครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมดนตรีประกอบภาพยนตร์ไป วันนี้ Lab 5 Soundworks จะพาไปดูว่ากว่าจะเป็นดนตรีประกอบภายยนตร์ที่สมบูรณ์นั้นมันมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็จะยกตัวอย่างมาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของต่างประเทศอีกเช่นเคย

ทำไมเราถึงต้องพูดถึงระบบการทำงานกับคนทำเพลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศ เพราะ ในต่างประเทศมีการทำงานในสเกลที่ใหญ่จนเป็นระบบอุตสาหกรรม นั่นแสดงให้เห็นว่า วิธีการจัดการและขั้นตอนการทำงานจำเป็นต้องมีความเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์จะมีการตีความตัวละครและฉากต่างๆ ที่ผู้กำกับและคนทำเพลงต้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นมันจึงถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับการทำงานดนตรีประกอบสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นละครเวที โฆษณา เพลงสำหรับองค์กร แอพพลิ-เคชั่น หรือศิลปะ

กว่าจะเป็นดนตรีประกอบที่สมบูรณ์

การแต่งเพลงในอุตสาหกรรมดนตรีประกอบภาพยนตร์ต่างประเทศประกอบไปด้วยขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ spotting session , scoring session, recording session, mixdown session และ dubbing session มาดูกันเลยว่าขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้นคืออะไรบ้าง

The Spotting Session

คำว่า Spot หมายถึง “จุด” หรือการกำหนดตำแหน่ง ซึ่งอาจจะยากสักหน่อยในการแปลเป็นไทยแบบตรงตัว แต่ขั้นตอนปฏิบัตินี้คือการพูดคุยกันระหว่างเจ้าของงาน (ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์) กับคนทำเพลง เพื่อสร้างความเข้าใจและทิศทางต่างๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในงานชิ้นนั้นๆ

สิ่งแรกที่คนทำเพลงต้องทำคือ การได้ดูหนังที่เจ้าของงานส่งมาให้ ซึ่งเป็นฉบับที่ยังไม่สมบูรณ์หรือสมบูรณ์แล้วก็ได้ อาจมาพร้อมกับ Temporary Music (เรียกสั้นๆว่า Temp Track) คือ ดนตรีที่ใส่มาชั่วคราวเพื่อบอกถึงความต้องการของผู้กำกับ หรือที่รู้จักกันดีว่า เพลง reference นั่นเอง

หลังจากดูหนังจบพร้อมกับผู้กำกับ ขั้นตอนสำคัญคือ การคุยกันถึง “จุด” ที่ต้องการให้มีดนตรี ผู้กำกับจะเป็นคนบอกว่า อยากได้ดนตรีตรงไหน มีการเข้า-ออกของดนตรีในช่วงไหน ต้องการอารมณ์ประมาณไหน หรือมีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ในหนังของเขาบ้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้กำกับต้องเล่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับหนังของเขาให้เราฟังอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ส่วนมากขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นในห้องตัดต่อซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาอยู่ด้วยกัน เช่น ผู้กำกับ คนทำเพลง คนตัดต่อหนัง คนตัดต่อดนตรี หรือโปรดิวเซอร์

ถึงจุดนี้คนทำเพลงน่าจะเกิดไอเดียมากมายว่าเพลงจะต้องเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย คนทำเพลงควรเล่าให้ผู้กำกับฟังถึงไอเดียที่เกี่ยวกับเพลงด้วย จริงอยู่ที่ผู้กำกับจะรู้จักทุกซอกทุกมุมของหนังตัวเอง แต่บางครั้งการที่ผู้กำกับทำงานกับหนังตัวเองมาเป็นเวลานาน อาจทำให้หลงลืมรายละเอียดบางอย่างที่ต้องการ การแลกเปลี่ยนความคิดของทั้งสองฝ่ายทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

บุคคลที่สำคัญที่ต้องมาคู่กับคนทำเพลงก็คือ “คนตัดต่อดนตรี” หรือ Music Editor ซึ่งมีหน้าที่ในการจดบันทึกสิ่งที่พูดคุยกันอย่างละเอียดในขั้นตอน Spotting ทั้งหมดว่าคิวไหนเป็นอย่างไร มีเพลงตรงไหน เข้า-ออกอย่างไร หลังจากขั้นตอนดังกล่าว คนตัดต่อดนตรีจะต้องดูว่าในแต่ละคิว มีความยาวเท่าไร โดยเขียนรายละเอียดทั้งหมดให้กับคนทำเพลง เพื่อใช้ในการเขียนเพลงต่อในขั้นตอนต่อๆ ไป

สำหรับในเมืองไทย Spotting Session ที่เกิดขึ้น (ในบาง Production) อาจจะไม่มีรายละเอียดที่เจาะลึกเท่ากับต่างประเทศ ไม่มีตำแหน่งของบุคคลากรมากมาย ส่วนมากคนทำเพลงและคนตัดต่อดนตรีก็คือคนเดียวกัน

Lalo Schifrin นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์

เจ้าของเพลง Theme จากภาพยนตร์ยอดนิยม Mission Impossible

The Scoring Session

เมื่อผู้กำกับและคนทำเพลงทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับงานที่ต้องทำร่วมกันแล้วใน Spotting Session ก็ถึงเวลาที่คนทำเพลงจะได้เริ่มแต่งเพลงกันสักที การทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีประกอบภาพยนตร์ต่างประเทศนั้น คนทำเพลงสามารถเลือกได้ว่าจะเขียนเพลงทั้งหมดเอง หรือจะเขียนเป็นสเก็ตช์คร่าวๆ แล้วส่งต่อให้ Orchestrator ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียง (เครื่อง) ดนตรี (หรือเขียนสกอร์นั่นเอง) ทำการเรียบเรียงให้สมบูรณ์ตามที่คนทำเพลงต้องการก็ได้ การเรียบเรียงเสียงดนตรี (Orchestration) ถือพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับคนทำเพลง เราต้องรู้ว่าเครื่องดนตรีชนิดไหนมีเอกลักษณ์อย่างไร เหมาะกับการใช้งานแบบไหน เมื่อผสมเสียงเครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นแล้วให้อารมณ์อย่างไร มีข้อจำกัดในการใช้งานอย่างไรบ้าง รวมถึงต้องรู้จักและเข้าใจสไตล์ดนตรีแบบต่างๆ ด้วย

ในกรณีที่คนทำเพลงเรียกใช้ Orchestrator คนทำเพลงจะต้องทำสเก็ตช์คร่าวๆ เป็นสกอร์แบบย่อ (Condensed Score, Short Score) พร้อมเขียนคำอธิบายสิ่งที่ต้องการได้ยินให้กับผู้เรียบเรียงเสียงดนตรี เพื่อให้เขาเรียบเรียงดนตรีออกมาตามความต้องการของคนทำเพลง เมื่อเรียบเรียงดนตรีเสร็จแล้วสกอร์จะถูกส่งต่อไปที่ Copyist หรือผู้คัดลอกต้นฉบับ โดยขั้นตอนนี้ Copyist จะพิมพ์/เขียนโน้ตให้แต่ละเครื่องดนตรีตามที่ผู้เรียบเรียงส่งมาให้ เมื่อเขียนพาร์ทต่างๆ เรียบร้อยแล้ว นักพิสูจน์อักษรจะตรวจเช็คความถูกต้องของสกอร์ว่าตรงตามต้นฉบับหรือไม่ ก่อนจะส่งให้นักดนตรีได้ซ้อมก่อนการบันทึกเสียงจริง

ก่อนการบันทึกเสียงคนทำเพลงควรให้เวลากับตัวเองในการตรวจสอบและทบทวนเพลงของตัวเองว่าเป็นอย่างไร เพื่ออธิบายอารมณ์และความหมายของเพลงให้กับนักดนตรีในวันบันทึกเสียงได้ การสร้างความเข้าใจในบทเพลงจะเป็นสิ่งที่ทำให้นักดนตรีมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันกับดนตรีและภาพยนตร์

คนทำเพลงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้พื้นฐานการเรียบเรียงเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งเราอาจเป็นต้องเป็นทั้งคนทำเพลงและคนเรียบเรียงเสียงดนตรีในเวลาเดียวกัน สำหรับการทำดนตรีประกอบในเมืองไทย คนทำเพลงอาจจะต้องเป็นทั้งคนพิมพ์โน้ต ตรวจสอบความถูกต้องของสกอร์ด้วยตนเองในกรณีที่มีการบันทึกเสียงจริงอีกด้วย

ในความเป็นจริงขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอาจมีการลดทอนลงไปบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณ จะเห็นได้ว่าน้อยครั้งที่ดนตรีประกอบในประเทศไทยมีการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีออร์เคสตร้าจริงๆ ถ้ามีการบันทึกเสียงจริงส่วนมากก็จะเป็นเครื่องดนตรีวงเล็กๆ คนทำเพลงส่วนใหญ่จะใช้แซมเปลอร์ (Sampler) ในโปรแกรมทำเพลงสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับคลังเสียงมากมาย อย่างเครื่องดนตรีออร์เคสตร้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปลั๊กอินส์ ต่างๆ เป็นตัวช่วยในการทำเพลง แม้ว่าคนทำเพลงจะใช้โปรแกรมในการแต่งเพลง แต่พื้นฐานในการเรียบเรียงเสียงดนตรีที่ดี ยังคงมีความจำเป็นมากเช่นกัน...

ในครั้งต่อไปเราจะพาไปดูขั้นตอน Recording Session, Mixdown Session และ Dubbing Session ว่ามันคืออะไรและเขาต้องทำอะไรกันบ้างในแต่ละขั้นตอน

อ้างอิงจาก

  • Lalo Schifrin: Music Composition for Film and Television

  • Richard Davis: Complete Guide to Film Scoring - The Art and Business of Writing Music for Movies and TV

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page