top of page

กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ทำอย่างไร (2)


ตอนที่แล้ว กว่าจะเป็นดนตรีประกอบ | ทำอย่างไร (1) เราได้พูดถึงขั้นตอนในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ไป 2 ขั้นตอนคือ Spoting Session, Scoring Session ในครั้งนี้ Lab 5 Soundworks จะพาไปดูขั้นตอนที่เหลือกันว่ากว่าจะเป็นดนตรีประกอบที่สมบูรณ์เขาต้องทำอย่างไรกันอีกบ้าง

The Recording Session

มาถึงขั้นตอนการบันทึกเสียงกันบ้าง โดยส่วนมากคนทำเพลงควรจะควบคุมวงได้ ในกรณีที่คนทำเพลงไม่สามารถควบคุมวงได้ อาจเพราะมีประสบการณ์ในการควบคุมวงที่น้อยหรือไม่มีจิตวิทยาในการควบคุมคนหมู่มาก การจ้างผู้ควบคุมวง (conductor) ก็สามารถทำขึ้นได้ ถึงแม้ว่าคนทำเพลงจะไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมวงที่มากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คนทำเพลงจะต้องรู้และอธิบายสิ่งที่ต้องการให้กับผู้ควบคุมวงได้ เพราะคนทำเพลงคือคนที่รู้จักเพลงของตัวเองดีที่สุด

ในขณะเดียวกัน คนทำเพลงต้องให้คำแนะนำเรื่องการบันทึกเสียงแก่วิศวกรเสียง (sound engineer) ได้ เช่น การพูดคุยถึงองค์ประกอบเพลงว่า เพลงนี้มีเครื่องที่ต้องเล่น solo กี่เครื่อง sound engineer ก็จะได้วางตำแหน่งไมโครโฟนไว้อย่างเหมาะสม เป็นต้น รวมถึงการทำ stage plan ซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งเครื่องดนตรีในห้องสตูดิโอสำหรับให้ sound engineer ดูตำแหน่งการวางไมโครโฟน ประสบการณ์ของ sound engineer ก็มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการบันทึกเสียงด้วยนั่นเอง

เมื่อนักดนตรีอยู่ในตำแหน่งเครื่องดนตรีที่วางแผนไว้ คนทำเพลงควรช่วย sound engineer ในการดูความสมดุลของเสียงในแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรีออร์เคสตร้าว่าดัง-เบา หรือไม่ อย่างไร

copyist กลับมาอีกครั้งในขั้นตอนการบันทึกเสียง โดยหน้าที่หลักในขั้นตอนนี้คือการจัดการกับคิวต่างๆ ที่ต้องบันทึกเสียง โดยเริ่มจากส่วนที่ใหญ่ที่สุดก่อนนั่นคือ การบันทึกเสียงวงออร์เคสตร้าทั้งวงและไล่ไปจนการบันทึกเสียงวงที่เล็กลงมา กล่าวคือ เราต้องบันทึกเสียงวงที่มีคนจำนวนมากก่อนเพื่อให้นักดนตรีที่ต้องเล่นไม่เสียเวลารอ คนที่หมดหน้าที่ก่อนก็สามารถกลับบ้านไปได้ ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาในการจ่ายเงินให้นักดนตรีด้วย ยิ่งนักดนตรีรอนานเท่าไรงบประมาณก็จะถูกใช้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนมากในแต่ละคิวจะมีการซ้อม 1 ครั้งและบันทึกเสียงเลย ขณะซ้อมคนทำเพลงอาจจดบันทึกสิ่งที่ผิดพลาดและแก้ไขก่อนจะเริ่มการบันทึกเสียงจริง ส่วนมากในแต่ละช่วงของการบันทึกเสียง จะมีความยาวไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเกินจากนั้นโปรดิวเซอร์จะเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้กับนักดนตรี เวลาส่วนใหญ่ที่อยู่ในสตูดิโอมักจะอยู่ราวๆ 2 ชั่วโมง 30 นาที รวมช่วงพักแล้ว

ในสหรัฐฯ จะมีการพัก 10 นาทีในทุกๆ 1 ชั่วโมง รวมเวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง การพักจะช่วยให้นักดนตรีผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด นักดนตรีโดยเฉพาะเครื่องเป่าก็จะได้พักปากไปในตัว ซึ่งในขณะท่ีบันทึกเสียงทุกคนต้องใช้สมาธิในการทำงานเป็นอย่างมากเพราะนักดนตรีต้องเล่นเพลงที่ตัวเองยังไม่เคยเล่นมาก่อน ในอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปน การบันทึกเสียงจะอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 15 นาที พัก 30 นาที และกลับมาบันทึกเสียงใหม่อีก 1 ชั่วโมง 15 นาที ในระหว่างการพักคนทำเพลงควรจะใช้เวลานี้ ในการฟังเสียงที่บันทึกแล้วเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย

หลังขั้นตอนการบันทึกเสียง คนทำเพลงต้องอยู่ฟังเพลงอีกครั้งเพื่อดูให้แน่ใจว่าเสียงที่บันทึกไปทั้งหมดไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการบันทึกเสียงเป็นขั้นตอนที่ใช้ทรัพยากรมากมายทีเดียว ทั้งจำนวนทีมงานและนักดนตรีจำนวนมหาศาล รวมถึงสตูดิโอที่ใช้ในการบันทึกเสียง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ฉะนั้นการทำงานของทุกฝ่ายจะต้องมีความละเอียดรอบคอบให้มากที่สุด ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่าที่สุดและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้กำกับคุยงานไม่ชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอน spotting คนทำเพลงทำออกมาไม่ปรึกษาผู้กำกับ พอถึงขั้นตอนการบันทึกเสียงผู้กำกับไม่พอใจ อยากได้ตรงนั้นตรงนี้เพิ่ม ก็จะเกิดปัญหาเพราะจ้างนักดนตรีไว้แล้ว เสียค่าห้องสตูดิโอบันทึกเสียงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากจะสูญเสียเงินทองแล้วยังจะเสียมิตรภาพในการทำงานอีกด้วย ดังนั้นในการทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องพูดคุยกันให้เข้าใจตั้งแต่ขั้นตอน spotting เพื่อการทำงานที่เป็นมืออาชีพ มีระเบียบแบบแผน และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บรรยากาศของ Recording Session ภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 5 ซึ่ง Brian Tyler รับหน้าที่เป็นทั้ง Composer, Conductorและเป็นนักดนตรีเองด้วย

The Mixdown Session

ขั้นตอน Mixdown หรือจะเรียกแบบไทยๆ ว่า ขั้นตอนผสมเสียง นั้น จะเป็นส่วนที่คนทำเพลงและ sound engineer อยู่ด้วยกัน เพื่อจัดการกับเสียงดนตรีที่บันทึกมา ความได้เปรียบของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ประหยัดเวลาในขั้นตอนการบันทึกเสียง (recording session) ได้มากเลยทีเดียว เสียงบางเสียงที่มีปัญหาเล็กน้อย เช่นความดัง-เบา สามารถมาแก้ไขได้ในขั้นตอนนี้

ในการบันทึกเสียง sound engineer จะบันทึกเสียงโดยแยกแทรคเครื่องดนตรีในวงตามประเภทของเครื่องดนตรี ไว้หลายๆ channel (ช่องการรับสัญญาณเสียง) เช่น เครื่องเป่าลมไม้ (woodwind) เครื่องทองเหลือง (brass) เครื่องเคาะ (percussion) เครื่องสาย (string) หรือเครื่อง solo เป็นต้น เพื่อให้ง่ายในการปรับความสมดุลของเสียง (balancing) ในขั้นตอน mixdown

สิ่งสำคัญในขั้นตอน mixdown คือคนทำเพลงจะต้องแนะนำ sound engineer เกี่ยวกับความสมดุลของเสียงดนตรีในวงออร์เคสตร้า กลุ่มนักร้อง นักร้องเดี่ยวหรือเครื่องดนตรีเดี่ยวได้ คนทำเพลงอาจขอให้ sound engineer เพิ่มเสียงเครื่องสายอีกหน่อย ลดเสียงเครื่องเคาะลงอีกนิด ตามความหมาะสม ขั้นตอนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว สมาธิในการทำงานจึงมีความจำเป็นมาก สิ่งที่ควรพึงระลึกไว้เสมอสำหรับคนทำเพลงก็คือ การเปรียบดนตรีกับภาพวาด ให้จินตนาการว่าเรากำลังสร้างมิติของเสียงอยู่ ต้องรู้ว่าอะไรควรจะเด่นออกมา อะไรควรจะซ่อนอยู่เป็นพื้นหลัง การฟังภาพรวมของเสียงทั้งหมดนี้จะทำให้ดนตรีออกมาครบทุกมิติ

สำหรับการแต่งดนตรีประกอบนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ บทสนทนาและเสียงเอฟเฟคต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเสียง เช่น ในฉากต่อสู้ มีเสียงเอฟเฟคการต่อสู้ที่ดุดันแสดงอารมณ์รุนแรง เสียงดนตรีก็ต้องดังด้วยเพื่อช่วยโอบอุ้มอารมณ์ในฉากนั้น ในทางกลับกัน ฉากไหนที่มีบทสนทนาเยอะ ดนตรีก็ควรทำหน้าที่เป็นแค่พื้นหลังที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับบทสนทนาหรือความรู้สึกของตัวละครนั้นๆ

The Dubbing Session

ขณะที่คนทำเพลงกำลังวุ่นอยู่กับการแต่งเพลงและการบันทึกเสียงดนตรีนั้น อีกส่วนหนึ่งของทีมงานก็มีการดำเนินงานอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ทั้งการใส่ sound effect, การออกแบบเสียง (sound design) และการพากย์เสียงทับ (ADR - Automatic Dialogue Replacement) ซึ่งทีมงานเหล่านี้จะทำงานร่วมกับผู้กำกับ การทำ ADR เป็นการนำนักแสดงกลับมาพากย์เสียงทับบทพูดที่อยู่ในฉากนั้นๆ เนื่องจากเสียงที่บันทึกมาในขณะถ่ายทำอาจมีปัญหา มีเสียงที่ไม่พึงประสงค์แทรกอยู่

กลับมาที่ Dubbing Session คำว่า dub มีความหมายว่า การบันทึกเสียงลงบนแผ่นฟิล์ม กล่าวคือ ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการนำเสียงทั้งหมดในโปรดักชั่นนี้มาใส่ลงในภาพยนตร์ มักจะทำในโรงหนังแบบพิเศษโดยมีทีมงานหลากหลายภาคส่วนเข้ามาอยู่ในขั้นตอนนี้ ได้แก่ วิศวกรเสียงทั้ง sound effect ดนตรี และบทพูด คนตัดต่อเสียงพูด คนตัดต่อดนตรี คนตัดต่อ sound effect คนทำเพลง คนตัดต่อภาพและผู้กำกับด้วย นี่ถือเป็นโอกาสสุดท้ายในการแก้ไขหนัง บางครั้งคนตัดต่อภาพก็ทำการตัดต่อและลำดับภาพในขณะนั้นด้วย การตัดต่อภาพไม่กีวินาทีก็มีผลทำให้ดนตรีมีความคลาดเคลื่อนได้ คนตัดต่อดนตรีมีหน้าที่ตัดต่อเสียงดนตรีให้ตรงกับภาพที่ตัดไว้ ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการตัดต่อเสียงดนตรีก็คือเสียงดนตรีที่ได้บันทึกไว้ในขั้นตอนการบันทึกเสียง คนตัดต่อดนตรีจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อให้การตัดต่อเสียงเป็นไปอย่างราบรื่น

ในขั้นตอนนี้จะไม่มีการกลับไปแก้ไขเสียงประสาน แต่งเพลงใหม่ หรือการบันทึกเสียงอีกรอบ เพราะนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว เวลาก็มีจำกัดด้วย ขั้นตอนการ dubbing อาจใช้เวลาหลายวัน คนทำเพลงจะต้องพร้อมอยู่เสมอในกับการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่ากว่าจะเป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในต่างประเทศนั้น มีหลายขั้นตอนและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านมาร่วมมือกัน เราหวังว่าบทความนี้จะสามารถทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในฐานะคนทำดนตรีและคนที่ต้องทำงานกับคนทำดนตรี เข้าใจในกระบวนการผลิตดนตรีประกอบภาพยนตร์และสามารถนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้นะ

อ้างอิงจาก

  • Lalo Schifrin: Music Composition for Film and Television

  • Richard Davis: Complete Guide to Film Scoring - The Art and Business of Writing Music for Movies and TV

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page