การเดินทางของ เสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์ | ความเป็นไปในภาพยนตร์เงียบ (1)
ภาพและเสียงถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการรับรู้ของมนุษย์ เราใช้การมองเห็นและการได้ยินแทบจะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งประสาทสัมผัสทั้งสองนี้ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราได้อย่างน่าประหลาดใจ หลักการทำงานของภาพและเสียงที่ส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ถูกนำมาใช้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และความบันเทิง จนกลายเป็น ภาพยนตร์ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
แล้วดนตรีไปอยู่ในภาพยนตร์ได้อย่างไร ? Lab 5 Soundworks จะพาทุกคนไปรู้จักกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของดนตรีประกอบภาพยนตร์กันโดยสังเขป ในที่นี้เราจะแบ่งประวัติศาสตร์ของเพลงประกอบภาพยนตร์ออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ค.ศ. 1895-1927 : ความเป็นไปในภาพยนตร์เงียบ, ค.ศ. 1927-1960 : ยุคทองของ Hollywood และ ค.ศ. 1960 ถึงปัจจุบัน : ความหลากหลายในดนตรีประกอบภาพยนตร์ มาติดตามกันได้เลย
ค.ศ. 1895-1927 : ความเป็นไปในภาพยนตร์เงียบ
กำเนิดดนตรีประกอบภาพยนตร์
“ถ้าเราสามารถดู Opera ที่บ้านได้ล่ะ !??” โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas A. Edison) สุดยอดนักประดิษฐ์ชาวอเมริกาเกิดปิ๊งคำถามนี้ขึ้นมาและพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแนวคิดนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ภาพยนตร์” ในเวลาต่อมา ช่วงปี ค.ศ. 1984 ในห้องทดลองของเอดิสัน เขาได้ทำภาพยนตร์ทดลองขึ้น พร้อมๆ กับการบันทึกเสียงพร้อมภาพที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ (Synchronization) โดยให้พนักงานสองคนเต้นรำกับเพลงโอเปร่าของ Robert Planguette’1877 ที่ชื่อว่า The Chimes of Normandy โดยมีดิ๊กสัน (William Kenedy Laurie Dickson) หัวหน้ากองถ่ายภาพยนตร์ของเอดิสัน เป็นคนเล่นไวโอลินและหันหน้าเข้าหาลำโพงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดใหญ่ (Phonograph) นี่คือเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ของการซิงค์ (Sync) ภาพและเสียงเข้าด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวที่ไร้เสียง หรือที่เรียกว่า "ภาพยนตร์เงียบ"
ภาพยนตร์ทดลองเรื่องแรกของเอดิสัน ที่มีการ sync เสียงพร้อมกับภาพเคลื่อนไหว
ต่อมาเอดิสันได้ประดิษฐ์เครื่อง “คิเนโตสโคป” (Kinetoscope) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชนิดถ้ำมอง เครื่องนี้ไม่ใช่เครื่องฉายหนังซะทีเดียว แต่มีลักษณะคล้ายกับโปรเจคเตอร์ที่สร้างภาพลวงตาให้ภาพนิ่งดูเคลื่อนไหวได้ ข้อจำกัดของเครื่องดังกล่าวก็คือเราสามารถดูภาพเคลื่อนไหวได้เพียงทีละคนเท่านั้น ต้นปีค.ศ. 1895 เอดิสันได้ปรับปรุงเครื่องคิเนโตสโคปใหม่ และตั้งชื่อว่า “คิเนโตโฟน” (Kinetophone) ที่ผสมกลไกของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้าไปในนั้นด้วย ซึ่งภาพและเสียงยังไม่สามารถเล่นได้พร้อมกันได้ร้อย-
เปอเซ็นต์ ทำให้ความนิยมในการใช้เครื่องนี้ลดลงไป
เครื่องคิเนโตสโคป (Kinetoscope)
ทางฝั่งยุโรปก็ไม่น้อยหน้ากัน ดนตรีมีบทบาทที่สำคัญมากๆ ของการกำเนิดภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ถูกฉายต่อหน้าสาธารชนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ ซึ่งการซิงค์ภาพและเสียงในฝั่งยุโรปมีความแตกต่างจากฝั่งอเมริกา ไม่มีการซิงค์เสียงจากนักแสดงหรือเสียงที่เกิดขึ้นในหนัง แต่เป็นการเล่นดนตรีสดประกอบการฉายหนังแทน
ปลายปี ค.ศ. 1895 สองพี่น้องลูมิแอร์ (The Lumière Brothers) ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้ง โดยประดิษฐ์ภาพยนตร์ชนิดฉายขึ้นจอที่เรียกว่า “ซีนีมาโตกราฟ” (Cinématographe) ออกสู่สายตาสาธารณชนชาวฝรั่งเศส พวกเขาได้นำภาพยนตร์ของตนออกฉายและเก็บค่าเข้าชมเป็นครั้งแรก ณ กรุงปารีส ถือเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นวันกำเนิดภาพยนตร์ ซึ่งไม่พบการบันทึกว่ามีเสียงดนตรีอยู่ในการฉายภาพยนตร์ในการฉายหนังครั้งแรกนี้หรือไม่ แต่ภายหลังพบว่า เอมิล เรย์โนล์ด (Émile Reynaud) ก็เล่นเปียโนประกอบในการฉายอยู่หลายๆ ครั้ง
ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ช่วงปลายปี ค.ศ. 1895 แม็กซ์ สกลาดาโนวสกี้ (Max Skladanowsky) ได้สร้างภาพยนตร์ที่มีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น มีการใช้นักกายกรรม นักเต้น นักมวยและสัตว์ต่างๆ เข้าฉาก รวมถึงผสมผสานดนตรีที่หลากหลาย อย่าง เพลงเต้นรำในจังหวะวอลทซ์ และเพลงมาร์ช มาถึงจุดนี้ภาพยนตร์ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากยุโรปไปทั่วโลก ทำให้บทบาทของดนตรีประกอบก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
สองพี่น้องลูมิแอร์กับซีนีมาโตกราฟ (Cinématographe)
ดนตรีประกอบของทั่วทุกมุมโลก
เมื่อภาพยนตร์เริ่มออกเดินทางไปทั่วโลก ทำให้ธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ของภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น มีการตีความดนตรีประกอบให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นถิ่น เช่น ในสหรัฐ ยุโรปตะวันตก เริ่มนำดนตรีป๊อบเข้ามาใช้ บางประเทศก็ใช้เพลงพื้นบ้านของตัวเองมาประกอบภาพยนตร์ อย่างในรัสเซีย ก็เลือกใช้เพลงที่มีความเป็นชาติรัสเซีย ซึ่งบางครั้งเพลงก็ไม่ได้เข้ากับภาพที่ฉายเลยก็มี เมื่อภาพยนตร์ของสองพี่น้องลูมิแอร์ได้เข้าฉายในประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1896 ดนตรีตะวันตกทางฝั่งของอังกฤษก็ได้เข้ามาด้วย ส่งผลให้ชาวอินเดียได้เริ่มทำภาพยนตร์และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของตนเล่นประกอบภาพยนตร์
ในช่วงทศวรรษแรกของดนตรีและภาพเคลื่อนไหวนั้น แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่น่าทึ่งมากมายของคนยุคนั้น ภาพยนตร์บางเรื่องเป็นเพียงหนังเงียบ (Silent film) บางเรื่องมีการใช้ดนตรีประกอบ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แผ่นเสียงก็มีเริ่มมีบทบาทในดนตรีประกอบมากขึ้นด้วย แม้ว่าดนตรีประกอบส่วนมากจะเป็นการเล่นดนตรีสดก็ตาม ซึ่งดนตรีที่เล่นสดก็มีทั้งดนตรีที่เล่นโดยนักดนตรีเดี่ยว นักเปียโน เล่นเป็นวงเล็กๆ วงออร์เคสตร้าในโรงละคร รวมถึงดนตรีที่ด้นสด (Improvisation) ตามสถานการณ์ของภาพยนตร์และดนตรีที่คิดเพื่อภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ด้วย
ดนตรีและจุดเริ่มต้นของแบบแผนทางศิลปะ
เมื่อประมาณปีค.ศ. 1906 จนถึง 1910 ธุรกิจภาพยนตร์เริ่มก่อร่างสร้างตัวอย่างแข็งแรง จนกลายมาเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะ เริ่มมีการบรรยายในภาพยนตร์ (Narrator) และเพิ่มความยาวของภาพยนตร์จาก 3-5 นาที เป็น 60-120 นาที วิวัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้มีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น เทคนิคการถ่ายทำ พัฒนาการของเนื้อหาในภาพยนตร์และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ฉายในภาพยนตร์ให้จุคนได้มากขึ้น ดนตรีประกอบก็เป็นส่วนหนึ่งในการขยายตัวของธุรกิจนี้ เริ่มมีการสร้างมาตรฐานในการใช้ดนตรีประกอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปี ค.ศ. 1910 คิวชีท (Cue sheet) ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยออกแบบและเป็นแนวทางที่ชัดเจนให้กับผู้เล่นดนตรีประกอบและผู้ที่เขียนสกอร์เพลง เนื่องจากทางเลือกในการใช้ดนตรีที่หลากหลาย ทั้งเพลงคลาสสิคที่ใช้ในคอนเสิร์ตฮอลล์ (เพลงในยุคปี 1900)
เพลงป๊อบ เพลงพื้นบ้าน หรือแม้แต่เพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ก็สามารถนำมาใช้ในภาพยนตร์ได้
ในปีเดียวกันนี้เองสหรัฐและยุโรปตะวันตก ได้กำหนดหน้าที่ของดนตรีประกอบไว้ ได้แก่ ใช้เพื่อบอกสถานที่ (Location),
ช่วงเวลา, เร้าอารมณ์, บอกความรู้สึก, แสดงการกระทำและความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ขณะที่นักเล่นดนตรีประกอบก็มีการใช้
ลูกเล่นหรือเทคนิคทางดนตรีเข้ามาช่วยสร้างสีสันและอรรถรสให้กับภาพยนตร์ เช่น การรัวสาย (Tremolo) ที่แสดงถึงความสงสัย คลางแคลงใจ, การดีดสาย (Pizzicato) ที่แสดงถึงความขี้เล่น และการใช้คู่เสียงกัด (Dissonance) ที่แสดงถึงความอาจหาญ เป็นต้น ดนตรีที่ใช้แสดงอารมณ์กลายเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคของภาพยนตร์เงียบ เพราะบางครั้งดนตรีก็ถูกเล่นในขณะที่กำลัง
ถ่ายทำอยู่ เพื่อสร้างอารมณ์ให้กับนักแสดงที่แสดงอยู่ ณ เวลานั้น
จะเห็นได้ว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดของภาพยนตร์ เพียงแต่ดนตรีประกอบอาจไม่ได้มีลักษณะที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน ความพยายามในตอนนั้นอาจเริ่มต้นเพียงแค่ต้องการที่จะดูภาพพร้อมเสียง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคต่อๆ มา เรื่องราวของประวัติของดนตรีประกอบภาพยนตร์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไป โปรดติดตามในบลอคหน้าของ Lab 5 Soundworks นะ
อ้างอิงจาก
Kathryn Kalinak: Film Music - A Very Short Introduction
โดม สุขวงค์: คู่มือนิทรรศการหนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย