การเดินทางของ เสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์ | ยุคทองของ Hollywood (2)
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับยุคภาพยนตร์เงียบ ต้นกำเนิดของภาพยนตร์และดนตรีประกอบในบล็อคที่แล้ว ครั้งนี้ Lab 5 Soundworks จะพาไปย้อนอดีตกับประวัติศาสตร์ดนตรีประกอบภาพยนตร์กันต่อในตอนที่ 2 “การเดินทางของเสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์ | ค.ศ. 1927-1960 ยุคทองของ Hollywood”
ค.ศ. 1927-1960 : ยุคทองของ Hollywood
ย้อนไปเมื่อเอดิสันทดลองสร้างภาพยนตร์ในห้องแล็บเมื่อปี ค.ศ. 1894 และได้พยายาม sync เสียงในภาพยนตร์ จนถึงยุคภาพยนตร์เงียบของสองพี่น้องลูมิแอร์ ภาพยนตร์ได้พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถูกเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนไปทั่วโลก แต่ถึงกระนั้นการฉายภาพยนตร์ที่ต้อง sync เสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Phonograph) หรือการเล่นดนตรีสดประกอบกับภาพยนตร์ที่ถูกฉายจากจอภาพก็มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น 1) เมื่อต้องฉายภาพยนตร์ในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นหรือเมื่อมีผู้ชมมากขึ้น เครื่องเล่นแผ่นเสียงไม่สามารถขยายเสียงได้เพียงพอ 2) ความยาวของดนตรีที่ถูกบันทึกลงบนแผ่นเสียงมีความยาวที่จำกัด (สามารถเล่นเสียงได้เพียง 3-5 นาทีเท่านั้น) 3) คุณภาพเสียงไม่ดี 4) ความคลาดเคลื่อนของการ sync แผ่นเสียงกับเครื่องฉายภาพยนตร์ 5) ราคาการผลิตค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญของยุคภาพยนตร์เงียบเลยทีเดียว
ต่อมาในปีค.ศ. 1920 การแข่งขันกันของการผลิตภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และเยอรมนี ทำให้สามารถประดิษฐ์คิดค้นระบบการบันทึกเสียงลงบนแผ่นฟิล์ม (Sound on Film) เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยสหรัฐฯ สร้างเครื่องวิต้าโฟน (Vitaphone) และโฟโนฟิล์ม (Phonofilm) เยอรมนีสร้างเครื่องทริ-เอโกน (Tri-Ergon)ซึ่งทางฝั่งของสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นก็ตามหลังมาติดๆ
(บน) การบันทึกเสียงกลางแจ้งด้วยระบบ Tri-Ergon ด้านซ้ายเป็นเครื่องขยายเสียง (Amplifier) ตรงกลางเป็นกล้องและไมโครโฟนด้านทางขวา (http://www.filmsoundsweden.se/backspegel/triergon.html),
(ล่าง) วิต้าโฟน (Vitaphone)
การเปลี่ยนแปลงของเสียงในภาพยนตร์และบทบาทของเพลงป๊อบ
เมื่อดนตรีมีบทบาทมากขึ้นในยุคนี้ การแข่งขันในวงการภาพยนตร์จึงเกิดขึ้น บริษัท Warner Bros. ลงทุนกับเครื่องวิต้าโฟน เพื่อปรับปรุงวิธีการใส่ดนตรีประกอบเข้าไปในภาพยนตร์ โดยว่าจ้าง วงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิค (วงดนตรีออร์เคสตร้า) มาเล่นเพลงประกอบเพื่อบันทึกเสียงลงในเครื่องวิต้าโฟน ในภาพยนตร์เรื่อง Don Juan (1926) ซึ่งระหว่างการฉายภาพยนตร์ก็มีการจัดตำแหน่งของลำโพงเอาไว้ในออร์เคสตร้าพิท (Orchestra Pit)
หลุมออร์เคสตร้าพิท (Orchestra Pit) ที่จุนักดนตรีไว้อยู่ด้านล่างของเวที
หลังจากนั้น Warner Bros. ก็สร้างภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่อง อาทิเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Jazz Singer (1927) ของ อัล โจลซัน (Al Jolson) ที่นักแสดงด้นบทพูด (Ad Lib) โดยการพูด รัวๆ เร็วๆ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากในการบันทึกเสียงลงในแผ่นฟิล์ม แม้ว่าการบันทึกเสียงในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นไฟล์เสียงแบบโมโน
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในฮอลลิวู้ดเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นเมื่อภาพยนตร์ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ทางฝั่งละตินอเมริกา ดนตรีพื้นบ้านเข้ามามีส่วนในดนตรีประกอบภาพยนตร์ เช่น เพลงพื้นบ้านของบราซิล ในจังหวะแบบอาโฟร บราซิลเลี่ยน แซมบ้า (Afro-Brazilian Samba) หรือจังหวะแทงโก้ (Tango) จากประเทศอาร์เจนตินา ขณะเดียวกันนั้นเองทางฝั่งของสหภาพโซเวียตในยุคของสตาลิน ดนตรีประกอบก็เน้นไปที่เพลงสวนสนาม เพลงปลุกใจ หรือเพลงพื้นบ้านของรัสเซีย การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้ทำให้เกิดดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านการตีความและแนวเพลงที่สะท้อนถึงสังคมและชาติพันธุ์ของพื้นที่นั้นๆ ด้วย
จากการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นในการใช้ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีไม่เพียงแต่จะเป็นเพลงๆ ที่วางต่อกัน แต่ดนตรีประกอบถูกนำไปใช้เพื่อเล่นคลอเป็นพื้นหลัง (Background Music หรือที่เรียกว่า Score และในบล็อคนี้จะแทนด้วยคำว่า สกอร์ก็แล้วกัน) ซึ่งสกอร์มีหน้าที่สนับสนุนอารมณ์ที่เกิดขึ้นในฉากหรือเหตุการณ์นั้นๆ โดยจะไม่ไปแย่งความสำคัญของบทพูดหรือการกระทำที่กำลังดำเนินอยู่
พัฒนาการของสกอร์
ขณะที่สกอร์ กำลังเป็นที่นิยมและมีความหลากหลายมากขึ้น ก็มีกลุ่มคนบางกลุ่มต้องการที่จะรักษาขนบของความเป็นหนังเงียบเอาไว้ หนึ่งในนั้นก็คือชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplins) เจ้าพ่อหนังเงียบในตำนาน ภาพยนตร์ของเขาจะไม่มีบทพูดหรือเสียงการกระทำของตัวละครเลย มีเพียงแต่ดนตรีประกอบที่เล่นไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์และการกระทำของตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง City Lights (1931) และ Modern Times (1936) ในทางกลับกัน ภาพยนตร์ในปัจจุบันหันมาใช้ความเงียบ (Silent) เพื่อแสดงถึงความเป็นปัจจุบันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง อีกทั้งยังสร้างความสมจริงให้กับช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ตามดนตรีและความเงียบถือเป็นองค์ประกอบของเสียงในภาพยนตร์ การจะเลือกใช้ว่าจะมีดนตรีหรือจะเงียบตรงไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการตีความภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ด้วย
ภาพยนตร์ของชาร์ลี แชปลิน
กลับมาที่ฮอลิวู้ดในช่วงปี ค.ศ. 1927 ฮิวโก้ รีเซ็นเฟลด์ (Hugo Riesenfeld) ทดลองผสมผสานวงดนตรีเพื่อสร้างความแปลกใหม่ขึ้นมา โดยใช้วงดนตรีแจ๊สและวงออร์เคสตร้าขนาดเล็กเข้าด้วยกันในภาพยนตร์เรื่อง Sunrise (1927) ขณะเดียวกันนั้นเองโมริซ โฌแบร์ (Maurice Jaubert) จัดการกับเสียงด้วยวิธีการทางไฟฟ้า มาใช้สร้างความน่าสนใจให้กับฉากสโลโมชั่น ในภาพยนตร์ของ ฌอง วิโก้ (Jean Vigo) เรื่อง Zéro de condiute ในปีค.ศ. 1933
การทดลองใช้ดนตรีรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นสกอร์เกิดขึ้นมากในช่วงเวลานี้ อย่างการใช้เทคนิคของเครื่องดนตรีในออร์เคสตร้า เช่น การเลียนแบบเสียงที่ได้จากเทคนิคดีดสาย (Pizzicato โดยทั่วไปจะเป็นเทคนิคของกลุ่มเครื่องสายอย่าง Violin, Viola, Cello, Bass) ในเครื่องดนตรีอย่าง เปียโนและทูบา นอกจากนี้ยังมีนักประพันธ์หลายท่านพยายามสร้างทฤษฎีหรือตั้งข้อสังเกตใหม่ๆ ให้กับดนตรีและภาพยนตร์ อาร์โนล์ด โชนแบก (Arnold Schoenberg) นักประพันธ์หัวก้าวหน้าชาวเยอรมัน เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า “อืม.. ถ้าเราจะใช้เพลงเล่าเรื่องเป็นหลัก แล้วเอาหนังมาใส่ในเพลงทีหลังจะได้มั้ย??” ซึ่งในท้ายที่สุดไอเดียนี้ก็ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับสักเท่าไร ในยุคสมัยนั้น
Arnold Schoenberg (1874-1951) นักประพันธ์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับดนตรีในศตวรรษที่ 20
ในสหภาพโซเวียต นักประพันธ์หลายๆ คนใช้สกอร์เป็นส่วนหนึ่งในการตัดต่อภาพ คนทำภาพยนตร์ ต่างก็ค้นหาและศึกษาอิทธิพลของดนตรีที่มีต่อภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงระบบความคิดความอ่านของตัวละครและภาพยนตร์ ในหนังสือ “Statement on Sound Film” (1928) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการปฏิวัติทางสุนทรียศาสตร์ของดนตรีประกอบภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคคลาสสิคฮอลิวู้ด
ช่วงปีค.ศ. 1930-1960 เป็นช่วงที่ดนตรีประกอบในฮอลิวู้ดเริ่มมีแบบแผนที่ชัดเจน และเรียกยุคนี้ว่า “Classical Hollywood”
มีการใช้ดนตรีประกอบที่เป็นสกอร์ เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1930 ที่ฮอลลิวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สกอร์ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมเนื้อเรื่อง อารมณ์และความรู้สึกของภาพยนตร์แล้ว มันยังช่วยเล่าเรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยด้วยถ้อยคำได้อย่างแยบยล อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในโลกที่ภาพยนตร์สร้างขึ้นมาได้ด้วย
หน้าที่ของดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคนี้ มีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
ดนตรีมีส่วนช่วยอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นในหนังเพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวให้มีความลื่นไหล เช่น ระหว่างการเปลี่ยนฉาก การเปลี่ยนเหตุการณ์ ที่เรียกว่า Transition
เพิ่มความรู้สึกหรือกระตุ้นให้การกระทำของตัวละครมีอรรถรสมาขึ้น ภาษาทางฮอลิวู้ดจะเรียกว่า Mickey Mousing ซึ่งเป็นการใช้ดนตรีเล่นตามท่าทางของตัวละคร เหตุผลที่เรียกชื่อนี้ก็เพราะวิธีการดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาจากตัวการ์ตูนของดิสนีย์นั่นเอง
แสดงอารมณ์หรือบรรยากาศของภาพยนตร์ ทั้งเรื่องของเวลา ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือใช้บรรยายลักษณะและบุคคลิกของตัวละคร
คลอไปกับบทพูด (Underscoring)
ดึงอารมณ์ความรู้สึกของคนดูให้เข้าไปอยู่ในโลกที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ สร้างขึ้น
ยุคคลาสสิคฮอลิวู้ดเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับยุคโมเดิร์น (ปลายปี 1900 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20) นักประพันธ์ส่วนมากเกิดในช่วงปลายยุคโรแมนติกและได้รับอิทธิพลจากดนตรีในยุคนั้น ส่งผลให้ดนตรีประกอบภาพยนตร์มีความเป็นดนตรียุคโรแมนติกค่อนข้างสูง นักประพันธ์ที่มีบทบาทในยุคของคลาสิคฮอลิวู้ดก็คงจะหนีไม่พ้นแม็กซ์ สไตเนอร์ (Max Steiner) จากเรื่อง King Kong (1933), อีริช วูฟกัง คอร์นโกล์ด (Erich Wolgang Korngold) จากเรื่อง The Adventures of Robin Hood (1938) และอัลเฟร็ด นิวแมน (Alfred Newman) จากเรื่อง Wuthering Heights (1939) ในขณะเดียวกันยุคโมเดิร์นก็เป็นแหล่งกำเนิดดนตรีแนวใหม่ขึ้นมา ดนตรีแจ๊สและจังหวะสวิง (Swing) มีบทบาทมากขึ้นในหอแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงเพลงป๊อบก็เริ่มมีความนิยมมากขึ้นเมื่อมีวิทยุ
สิ่งที่น่าสนใจของการใช้ดนตรีในยุคโรแมนติกมาใช้เพื่อประกอบภาพยนตร์ ก็คือ ดนตรียุคนี้มีทำนองหลักที่สละสลวย ชัดเจน สามารถเล่าเรื่องและแสดงอารมณ์ได้ดี แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ภาพยนตร์และดนตรีประกอบเริ่มทำกันอย่างแพร่หลาย ทำให้นักประพันธ์หลายๆ ท่านหันมาทดลองอะไรใหม่ๆ เช่น การใช้ดนตรีแจ๊สมาประกอบอยู่ในภาพยนตร์ เพื่อสร้างความเหนือจริงและล้ำสมัย อย่างไรก็ดี หน้าที่ของดนตรีแบบคลาสสิคฮอลิวู้ดก็ยังคงอยู่และถือเป็นบรรทัดฐานที่นักประพันธ์ใช้เป็นแนวทางในการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์
สิ่งใหม่ในฮอลิวู้ด
เมื่อดนตรีประกอบภาพยนตร์ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ก็พยายามค้นหาแนวดนตรีที่แตกต่างจากขนบธรรมเนียมเดิม ปีค.ศ. 1950 ดนตรีแจ๊สมีบทบาทมากขึ้นในภาพยนตร์แนวอาชญากรรมและแนวประโลมโลก ดนตรีแนวนี้ให้ความรู้สึกถึงความเป็นเมือง การแข่งขัน และเป็นสัญญะทางเพศด้วย ศิลปินแจ๊สมากมายมีส่วนร่วมในการประพันธ์และบรรเลงดนตรีประกอบ เช่น ไมลส์ เดวิส (Miles Davis), เฮอร์บี้ แฮนคอค (Herbie Hancock) และดู๊ก เอลลิงตั้น (Duke Ellington)
การใช้จังหวะที่ขัดกันแปลกๆ มีเครื่องดนตรีที่ไม่ปกติ การใช้เสียงประสานที่กัดกัน ก็ถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง East of Eden (1955) โดยลีโอนาร์ด โรเซ็นแมน (Leonard Rosenman) ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้กำกับจากเรื่อง Psycho (1960) อย่าง
อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อค (Alfred Hitchcock) ก็ได้เลือกเบอร์นาร์ด เฮอร์แมน (Bernard Herrmann) นักประพันธ์มากฝีมือมาร่วมงานด้วย ฉากที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้นฉากในห้องอาบน้ำที่มีเสียงเครื่องสายสูงๆ เล่นโน้ตกัดกันเป็นจังหวะที่ชวนให้ระทึกใจ
ฉากอาบน้ำในตำนาน จาก Psycho (1960)
นอกจากนี้ยังมีการนำดนตรีแบบอนุกรม (Serialism) ที่เรียกว่า Tweve-Tone มาใช้ด้วย ซึ่งดนตรีแนวนี้เป็นเทคนิคการประพันธ์ดนตรีอย่างหนึ่งของ อาร์โนล์ด โชนแบก (Arnold Schoenberg) โดยผู้ประพันธ์จะเขียนตารางสี่เหลี่ยมขึ้นมา 12x12 ช่อง แล้วเลือกใส่โน้ตที่ตัวเองชอบลงไป ซึ่งโน้ตที่เลือกจะถูกเรียงกันเป็นอนุกรม เมื่อได้โน้ตจากอนุกรมทั้งหมดแล้วก็นำโน้ตที่ได้มาประพันธ์ตามหลักทฤษฎีของ Tweve-Tone ก็จะทำให้ได้ดนตรีที่เราคาดเดาได้ยาก ไม่คุ้นหู ซึ่งอาจจะไม่มีท่วงทำนองที่จดจำได้เลยด้วยซ้ำไป
Tone row ตารางตัวโน้ตใช้เป็นวัตถุดิบในการประพันธ์เพลงแบบ Twelve-Tone
เมื่อเข้าสู่ปีค.ศ. 1960 ดนตรีแบบมินิมอล (Minimalism) จะได้ยินมากขึ้นในภาพยนตร์ จุดเด่นของดนตรีแบบมินิมอลก็คือ การเล่นโน้ตหรือจังหวะซ้ำๆ วนไปมา ปล่อยให้คนดูอยู่ในห้วงอารมณ์ของตนเอง (คล้ายการสะกดจิต) โดยนักประพันธ์ที่ชื่นชอบในดนตรีแบบนี้ก็คือฟิลลิปส์ กลาส (Phillips Glass)
ในช่วงเวลากว่า 40 ปี ภาพยนตร์และดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับยุคสมัยทางศิลปะ แนวความคิดในการสร้างภาพยนตร์ ดนตรีที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ล้วนเติบโตขึ้นอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ยุคคลาสสิคฮอลิวู้ดจนถึงยุคฮอลิวู้ดร่วมสมัย ที่มีทั้งดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีแจ๊ส ดนตรีป๊อบ ดนตรีแบบอนุกรม และดนตรีแบบมินิมอล ในครั้งต่อไปดนตรีประกอบภาพยนตร์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน หลังจากยุคทองของฮอลิวู้ดแล้วจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง Lab 5 Soundworks จะนำสาระดีๆ มาเล่าสู่กันฟังในบล็อคหน้านะ
อ้างอิงจาก
Kathryn Kalinak: Film Music - A Very Short Introduction