การเดินทางของเสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์ | ค.ศ. 1960 ถึงปัจจุบัน : ความหลากหลายในดนตรีประกอบภาพยนตร์ (3)
คราวที่แล้ว Lab 5 Soundworks ได้พาทุกคนกลับไปในยุคของดนตรีประกอบภาพยนตร์ทั้งยุคภาพยนตร์เงียบและยุคทองของฮอลิวู้ดกันแล้ว มาดูกันต่อว่า “การเดินทางของเสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์ | ค.ศ. 1960 ถึงปัจจุบัน : ความหลากหลายในดนตรีประกอบภาพยนตร์” จะมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง
ค.ศ. 1960 ถึงปัจจุบัน : ความหลากหลายในดนตรีประกอบภาพยนตร์
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคช่วงหลังศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีการทำงาน การเลือกใช้เพลงและการใช้สกอร์ จากดนตรีที่บรรเลงไปตามการกระทำของตัวละครในยุคภาพยนตร์เงียบ ไปเป็นดนตรีที่ใช้สร้างบรรยากาศ สร้างอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในยุคฮอลิวู้ด และในยุคหนึ่งดนตรีโลก หรือ World Music ถูกนำมาใช้เป็นดนตรีประกอบ-ภาพยนตร์อย่างแพร่หลาย เนื่องจากภาพยนตร์ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้ดนตรีประกอบได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม สังคม และศิลปะของท้องถิ่นนั้นๆ นำมาสู่รูปแบบทางดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่างการบันทึกเสียงหรือการผลิตเครื่องสังเคราะห์เสียง ก็มีส่วนช่วยให้ดนตรีประกอบเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ส่งผลให้เกิดผู้กำกับและคนแต่งเพลงหน้าใหม่ๆ สร้างสรรค์ภาพยนตร์ทดลองร่วมกับการทดลองดนตรีรูปแบบใหม่ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ความท้าทายใหม่ของดนตรีประกอบภาพยนตร์
หลายคนคงคุ้นเคยกับโรงถ่ายทำภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ฮอลิวู้ด” ในอเมริกาและ “บอลลิวู้ด” ในอินเดียกันบ้างแล้ว เรามาดูกันหน่อยว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกมีพัฒนาการอย่างไรกันบ้าง
ที่ฮอลลิวู้ดภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ งบหนา ก็เริ่มหาวิธีการเล่าเรื่องและสร้างภาพยนตร์ที่หลากหลาย เช่น ภาพยนตร์ที่เนื้อเรื่องอยู่ในสถานที่อื่นๆ นอกอเมริกา หรือภาพยนตร์อวกาศเหนือจริง เป็นต้น แม้ว่ารูปแบบทางดนตรีจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคนิคทางดนตรีใหม่ๆ ผสมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน แต่ภาษาและแบบแผนในการใช้สกอร์ของดนตรียุคโรแมนติกก็ยังคงถูกใช้อยู่เสมอ ปีค.ศ. 1970-80 จอห์น วิลเลี่ยมส์ (John Williams) ได้สร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างดนตรีประกอบภาพยนตร์ไตรภาค เรื่อง Star Wars IV-V-VI (1977-1983) โดยสร้างทำนองหลักให้แก่ตัวละครและสถานการณ์ในภาพยนตร์ขึ้นมาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings ทั้งสามภาค ฮาเวิร์ด ชอร์ (Howard Shore) ก็เลือกใช้เครื่องดนตรีที่เป็นแบบแผนเดียวกันกับดนตรีในยุคโรแมนติก อาจมีการเพิ่มเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงออร์เคสตร้าทั่วไป เข้ามาเพื่อแสดงถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของตัวละครแต่ละเผ่าด้วย ซึ่งดนตรีประกอบภาพยนตร์สามารถพาผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้อย่างแนบเนียน
คุณปู่ John Williams และภาพยนตร์ Star Wars IV-V-VI ในตำนาน
ภาพยนตร์ไตรภาค Lord of the Rings กับนักประพันธ์มากฝีมือ Howard Shore
ในต่างประเทศ ผู้กำกับภาพยนตร์ตะวันตกในหลายประเทศมีแนวคิดใหม่ที่มาจากยุคโมเดิร์น (สมัยใหม่) พยายามลบล้างความคิดแบบเก่าๆ สร้างปรัชญาหรือทัศนคิตในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเดิม เมื่อความโมเดิร์นมาอยู่ในภาพยนตร์ สัญญะต่างๆ
ที่ผู้กำกับใส่เข้าไปก็แสดงถึงการต่อต้านสิ่งเดิมๆ ดนตรีที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ก็มีมุมมองที่ต่างไป เปลี่ยนจากดนตรีแบบ
ออร์เคสตร้า มาเป็นดนตรีที่เรียกว่า มิวสิคคงเคร็ต (Musique Concrète) โดยใช้เสียงที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีมาสร้างเป็นดนตรี
อย่าง ลูอิส เด พาโบล (Luis de Pablo) ที่ทำดนตรีประกอบในภาพยนตร์ เรื่อง The Garden of Delgihts (1970)
ของกาลอส เซาว์รา (Carlos Saura)
French New Wave หรือกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิถีแบบใหม่ในการแสดงออกทางอารมรณ์ในภาพยนตร์ เน้นความเป็นธรรมชาติและความเป็นศิลปะมากกว่าวิถีแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในฮอลิวู้ด ผู้กำกับที่โด่งดังในยุคนี้ได้แก่ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) และฌอง-ลุค โกดาร์ (Jean-Luc Godard) แม้ว่าเครื่องดนตรีที่ใช้จะยังคงเป็นเครื่องในวงออร์เคสตร้า แต่วิธีการประพันธ์ดนตรีมีลักษณะที่แตกต่างไป อย่างในเรื่อง Weekend (1967) ของ โกดาร์ อองตวน ดูฮาเมล (Antoine Duhamel) นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศส เลือกใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ไม่ได้ใช้วงออร์เคสตร้าเต็มวง ขณะที่เครื่องทำนองเล่นไป เครื่องเคาะและเครื่องให้จังหวะก็เล่นวนๆ ซ้ำๆ เป็นพื้นหลัง ซึ่งแตกต่างจากดนตรีในฮอลิวู้ดและมีความน่าสนใจมากทีเดียว
ภาพยนตร์เรื่อง Weekend ของ Godard กับดนตรีประกอบที่แตกต่างไปจากภาพยนตร์ฮอลิวู้ด
ดนตรีประกอบภาพยนตร์สมัยใหม่ในยุคโมเดิร์นนั้น เป็นส่วนผสมมาจากดนตรีหลายๆ รูปแบบ ทั้งดนตรีแบบอนุกรม (Serialism) มิวสิคคงเคร็ต ดนตรีป๊อบ ดนตรีพื้นบ้าน เพลงร้องในโบสถ์ บทสวดเกรกอเรี่ยน (Gregorian chant) และดนตรีที่ใช้
คนมากมายอย่างดนตรีออร์เคสตร้า เอ็นนิโอ่ โมริโคเน่ (Ennio Morricone) นักประพันธ์ดนตรีมือทองจากอิตาลี ที่ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์คาวบอยชื่อดังอย่าง The Good, The Bad and The Ugly (1966) เลือกใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านมาอย่างโอคาริน่า (Ocarina) มาเป็นทำนองหลัก เล่นล้อกับเสียงกีต้าร์ไฟฟ้า เสียงผิวปาก และเสียงตะโกนของคน โดยคำร้องที่เกิดขึ้น
บางครั้งก็ไม่สามารถเดาได้ว่าเป็นเสียงคนร้องหรือเสียงเอ็ฟเฟ็คกันแน่ ในเวลาต่อมาโมริโคเน่ก็กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบของ
นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ทางฝั่งตะวันตกเลยทีเดียว
Theme หลักยอดนิยมของภาพยนตร์แนวคาวบอย ของ Ennio Morricone
ค.ศ. 1950 ในสหภาพโซเวียต ปัญหาการเมืองและการปฏิวัติต่างๆ ส่งผลให้งานศิลปะแขนงต่างๆ ถูกปราบปรามอย่างเคร่งครัด ในยุคนั้นนักประพันธ์ตกงาน ดนตรีที่เล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์ถูกยกเลิก แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายขึ้น
นักประพันธ์อย่างช็อสตาโกวิช (Shostakovich) เชอร์บาลิน (Sherbalin) และโพรโคเฟียฟ (Prokofiev) ต่างนำดนตรีที่เคยแต่งไว้เพื่อเล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์ กลับมาใช้สำหรับภาพยนตร์แทน แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะแย่มากแต่ช็อตสตาโกวิชก็สามารถจัดการตัวเองให้อยู่ในอาชีพของนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ได้เป็นเวลายาวนาน ต่อมาในปีค.ศ. 1970 ข้อจำกัดต่างๆ ทางศิลปะค่อยๆ หายไป ผู้กำกับชาวโซเวียตมีอิสระมากขึ้นในการผลิตภาพยนตร์ ทำให้ดนตรีแนวใหม่ๆ แทรกอยู่ในภาพยนตร์โซเวียต รวมถึงดนตรีร็อคแอนด์โรลที่ตามมาในปีค.ศ. 1980
สำหรับฝั่งเอเชีย ช่วงปี ค.ศ. 1960 แนวภาพยนตร์ใหม่ๆ อย่างภาพยนตร์อาชญากรรม และภาพยนตร์แอ็คชั่น รวมถึงอิทธิพลทางดนตรีของร็อคแอนด์โรล ดิสโก้ และแร็พ มีบทบาทมากขึ้นอย่างแพร่หลายในบอลลิวู้ด ประเทศอินเดีย ราฮุล ดีฟ เบอร์แมนหรือที่รู้จักกันในนามของ “R.D.” ผู้กำกับดนตรีชาวอินเดีย ทดลองนำส่วนผสมของดนตรีดิสโก้ ร็อคและดนตรีพื้นบ้านของชาวเบ็งกอล
เข้าไว้ด้วยกัน มีการใช้บันไดเสียง (Raga) และเครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย อย่างซีตาร์ (Sitar) ฮาร์โมเนียม (Harmonium) หรือกลองทับบลา (Tabla) มาประกอบอยู่ในภาพยนตร์ด้วย
วงการดนตรีประกอบภาพยนตร์ในญี่ปุ่นราวปี ค.ศ. 1960 เกิดสกอร์ที่น่าสนใจ นักประพันธ์อย่างโทรุ ทาเกะมิตสึ
(Toru Takemitsu) ถือเป็นแนวหน้าของดนตรีในฝั่งของศิลปะและนำเอาความโดดเด่นของดนตรีฝั่งตะวันตกมาผสมกับฝั่งตะวันออกได้อย่างลงตัว ผลงานของทาเกะมิตสึเป็นดนตรีทดลองที่คาดเดาได้ยากและพยายามใช้เสียงที่คนดูคาดไม่ถึง ภาพยนตร์เรื่อง Kwaidan (1964) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทาเกะมิตสึนำดนตรีมิวสิคคงเคร็ตมาใช้เป็นสกอร์เพื่อแสดงถึงภูติผี และความน่ากลัว
ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จอีกหนึ่งงาน ภาพยนตร์เรื่อง Ran (1985) ของอากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa)
ทาเกะมิตสึออกแบบให้เสียงดนตรีเงียบไปในฉากรบที่ดุเดือดปล่อยให้เสียงมีเพียงเสียงการวิ่งและสู้รบเท่านั้น ดนตรีกลับเข้ามาเมื่อมีคนล้ม-ตายแสดงถึงความสูญเสีย และดนตรีก็หายไปอีกครั้งเมื่อกองทัพเดินทาง ทาเกะมิตสึกล่าวว่า “ที่ทำแบบนั้นก็เพื่อให้เสียงได้มีอิสระในการหายใจบ้าง” นั่นเอง
มาต่อกันที่แผ่นดินใหญ่อย่างประเทศจีนกันบ้าง ปีค.ศ. 1949 ประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสังคมนิยมหรือที่รู้จักกันว่าคอมมิวนิสต์ ช่วงเวลานั้นจีนก็มีการควบคุมการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ภาพยนตร์ในจีนจึงยังไม่มีพัฒนาการและยังไม่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศมากนัก จนกระทั่งปีค.ศ. 1980 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของจีนเริ่มเปลี่ยนไป ความตื่นตัวทางด้านศิลปะ ดนตรีและภาพยนตร์จึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น เกิดนักประพันธ์หน้าใหม่ขึ้นมาหลายท่าน และหนึ่งในนั้นก็คือ ถัน ตุ้น (Tan Dun)
นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ด้วยวิธีการผสมผสานดนตรีตะวันออกและดนตรีตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน เขามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีประกอบภาพยนตร์ของจีนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ จากเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon ของผู้กำกับอั้ง ลี่ (Aug Lee) สกอร์ของถัน ตุ้น ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีจีน โอเปร่าจีน คาบูกิจากญี่ปุ่น วิธีการตีกลองแบบเอเชีย รวมถึงเชลโล่ที่เล่นโดย โย โย่ หม่า (Yo-Yo Ma) ซึ่งดนตรีของถัน ตุ้น ดึงศักยภาพของดนตรีจีนออกมาผสมกับดนตรีตะวันตกไว้ได้อย่างสวยงาม
ถัน ตุ้น นักประพันธ์ชาวจีนที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon
คอมพิเลชั่น-สกอร์ (Compilation Film Score)
คอมพิเลชั่น-สกอร์ มาจากคำว่า Compilation ที่แปลว่าการรวบรวม ซึ่งความหมายโดยรวมของคำนี้ในทางดนตรีประกอบภาพยนตร์ก็คือ การนำเพลงที่มีอยู่แล้วมาใช้เพื่อประกอบภาพยนตร์ ส่วนมากจะเป็นเพลงป็อบ ร็อคแอนด์โรลล หรือเพลงแนวอื่นๆ ที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว เช่น โอเปร่าและดนตรีที่มีความเป็นศิลปะ (Art Music) ช่วงศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เพลงป็อบนิยมใช้เป็น
ซาวนด์แทรคในฮอลิวู้ด เห็นได้จากทำนองยอดนิยมอย่างเพลง “As Time Goes By” ในภาพยนตร์เรื่อง Casablanca (1942) หรือบางครั้งเพลงป็อบก็มาจากการนำทำนองหลัก (Theme) ของดนตรีประกอบภาพยนตร์มาแต่งเป็นเพลงร้อง อย่างทำนองหลักของธาร่า ในเรื่อง Gone With The Wind (1939) ในเวลาต่อมาเพลงป็อบก็ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้แสดงอารมณ์โดยมีหน้าที่เป็นสกอร์
คลอเป็นพื้นหลังให้กับภาพยนตร์หลายๆ เรื่องด้วย เช่น เพลง Moon River ในภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s ด้วย
มาถึงจุดหนึ่งการใช้คอมพิเลชั่น-สกอร์ กลายเป็นวิธีการหนึ่งของสกอร์ที่ทำกันจนเป็นแบบแผนในฮอลิวู้ด สังเกตได้จากภาพยนตร์อมตะอย่าง Titanic (1997) ที่นำเพลง My Heart Will Go On เวอร์ชั่นขับร้อง ของเซลีน ดีออน (Céline Dion)
มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสกอร์ เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกในฉากต่างๆ โดยเพลงร้องนั้นถูกนำไปวางไว้ในช่วง End Credits แทน
นอกจากจะใช้เพลงป็อบเพื่อเป็นสกอร์แล้ว เหตุผลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในการใช้เพลงป็อบก็คือ เพื่อสร้างกำไรให้กับภาพยนตร์จากการขายเพลงนั่นเอง The Lord of The Ring ภาพยนตร์มหากาพย์แฟนตาซีย้อนยุค ก็นำเพลงป็อบมาใช้เป็น End Credits ด้วยเช่นกัน
ปี ค.ศ. 1961-1977 คอมพิเลชั่น-สกอร์ ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งในฮอลิวู้ดและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อิหร่าน อียิป บอลลิวู้ด หรือแม้แต่คลื่นลูกใหม่ในเยอรมนี เหตุผลที่เพลงป็อบมีความนิยมในการนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์ก็คือ
เพลงเข้าถึงคนได้ง่ายกว่าสกอร์ที่ไม่มีเนื้อร้อง เพราะเพลงสามารถสื่อความหมายได้ตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพมากกว่าในแง่ของการสื่อสารทางภาษา
มีรูปแบบ (Form) ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย แม้ว่าจะตอบสนองอารมณ์ไม่ดีเท่ากับสกอร์ แต่ก็มีองค์ประกอบทางดนตรีบางส่วนที่สนับสนุนอารมณ์ความรู้สึกได้เช่นกัน
สามารถพาผู้คนไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ ทั้งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และพื้นที่ด้านเวลาได้ดีไม่แพ้สกอร์
เมื่อดนตรีประกอบภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากเพลงป็อบแล้ว ดนตรีโลกถือเป็นส่วนประกอบทางดนตรีที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีโลกถูกใช้แทนดนตรีอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากดนตรีตะวันตก อย่างดนตรีแอฟริกาและดนตรีทางฝั่งเอเชีย ในภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Elements (1997) นักประพันธ์ก็เลือกที่จะใช้ “ไรอ์” ( Raï - เครื่องดนตรีแอฟริกา) มาเป็นส่วนผสมอยู่ในสกอร์
ด้วยเทคโนโลยีและวิวัฒนาการหลากหลายด้านของโลกก้าวหน้าขึ้น การเรียนรู้ ศึกษา และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปของดนตรีประกอบภาพยนตร์ ขอบเขตต่างๆ ถูกเล่นแร่แปรธาตุ ปรับเปลี่ยนไป ตามแนวคิดของยุคสมัยนั้นๆ อย่างที่อัลเบอร์โต้ อิเกลซีส (Alberto Iglesias) กล่าวไว้ว่า “ในการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ บางคนอาจเลือกที่
จะเดินตามโลก ในขณะที่บางคนเลือกที่จะเปลี่ยน พลิกแพลง และดัดแปลงสิ่งที่โลกมี”
“การเดินทางของเสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์” ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้นมีการพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีและแนวคิดต่างๆ มากมาย ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าในอนาคตมันจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง Lab 5 Soundworks หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “การเดินทางของเสียง-ดนตรี-ภาพยนตร์” ทั้ง 3 ตอน จะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนนะ
อ้างอิงจาก
Kathryn Kalinak: Film Music - A Very Short Introduction